“พาณิชย์” ยัน ‘ไวรัสโคโรนา’ ไม่กระทบส่งออกไปจีนปี 63

  • เผยติดตามสถานการณ์ระบาดในจีนอย่างใกล้ชิด
  • คาดกระทบระยะสั้น ไม่กระทบการส่งออกรวมทั้งปี

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในประเทศจีนอย่างใกล้ชิด สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้ทั่วโลกมีความกังวลว่าในระยะสั้นจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและโลก แต่รัฐบาลจีนมีการดำเนินการอย่างรวดเร็ว เป็นรูปธรรม และมีความชัดเจนที่ต้องการคุมสถานการณ์ให้ได้รวดเร็วมากที่สุด ประกอบกับจีนมีประสบการณ์ในการรับมือกับการแพร่ระบาดจากไวรัสซาร์ส ที่เกิดขึ้นในปี 2545 ปัจจัยเหล่านี้จะสนับสนุนให้รัฐบาลจีนสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และคาดว่ารัฐบาลจีนจะมีการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามมาหลังจากนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และรักษาโมเมนตัมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังจากได้รับปัจจัยบวกจากการลงนามข้อตกลงทางการค้าระยะแรก (Phase-1 Deal) ระหว่างจีนและสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา

สำหรับมณฑลหูเป่ยมีประชากรจำนวน 60 ล้านคน มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันที่ 7 ของจีน สัดส่วน GDP ประมาณ 4.3% โดย 3 มณฑลที่มีเศรษฐกิจใหญ่สุดของจีน ได้แก่ กวางตุ้ง (10.7%) เจียงซู (10.25%) และซานตง (7.3%) ตามลำดับ 

ขณะที่การส่งออกของไทยไปมณฑลหูเป่ยยังมีมูลค่าค่อนข้างน้อย ต่ำกว่า 1.0% ของการส่งออกทั้งหมดไปจีน โดย 3 เมืองส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ กวางตุ้ง (28.0%) เซี่ยงไฮ้ (26.0%) และซานตง (14.0%) ตามลำดับ  ด้านการส่งออกจากไทยไปจีนในปี 2562 มีมูลค่า 29,172 ล้านดอลลาร์สหรัฐลดลง 3.78% เนื่องจากผลกระทบของสงครามการค้า อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 สนค. คาดว่าการส่งออกไปจีนจะกลับมาขยายตัว หลังจากการส่งออกครึ่งปีหลังมีสัญณาญฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในเดือนธ.ค. 2562 ที่การส่งออกไปจีนขยายตัว 7.3% สูงสุดในรอบ 18 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่จะขับเคลื่อนการส่งออกไปจีนในปี 2563 เช่น ผลไม้สดแช่แข็ง และผลไม้แห้ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เครื่องสำอาง รถยนต์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น

ทั้งนี้ ด้านการค้ากับจีนยังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ โดยจีนเป็นตลาดหลักสำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทย เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง ผลไม้สดแช่แข็งและแห้ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์และมาตรการของจีนรวมทั้งประเทศในภูมิภาคอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันและบรรเทาไม่ให้สถานการณ์ส่งผลกระทบเสียหายต่อการส่งออกไทย และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากข้อมูลของไวรัสโคโรนายังมีจำกัด แต่คาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายในระยะสั้น และไม่กระทบต่อการส่งออกไปจีนอย่างมีนัยสำคัญ

ประกอบกับในปี 2563 กระทรวงพาณิชย์ได้วางแผนในการทำตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง โดยจะเข้าร่วมงานแสดงสินค้า SMEs นานาชาติ (China International SME Fair: CISMEF) ในเมืองกว่างโจว (มิ.ย. 2563) และงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (China-ASEAN Expo) ในเมืองหนานหนิง (ก.ย. 2563) ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ที่อาจส่งผลให้การส่งออกไปจีนชะลอตัว และจะเร่งกระตุ้นการส่งออกสินค้าศักยภาพของไทยที่ขยายตัวสูงในตลาดจีน โดยเน้นทั้งเมืองใหญ่และการเจาะตลาดลึกในรายมณฑลเป็นต้น