พาณิชย์ ชงตั้งวอร์รูมเทรดวอร์ หลังสงครามการค้า ฉุดส่งออกไทย เผย 4 เดือนแรกปี 62 หายวับ 630 ล้านเหรียญฯ

พาณิชย์ เผยสงครามการค้า ฉุดส่งออกไทยตั้งแต่ปี 61 ถึง 4 เดือนแรกปี 62 หายวับ 630 ล้านเหรียญฯ ถกเอกชนรับมือผลกระทบ เตรียมเสนอ “กนศ.” ตั้งวอร์รูม ติดตามสถานการณ์ พร้อมชง 3 มาตรการแก้ปัญหา ทั้งเดินหน้าหาตลาดใหม่-รุกเจรจาเอฟทีเอ-ปรับโครงสร้างสินค้าส่งออกไทย ส่วนเป้าหมายส่งออกปีนี้ปรับลดหรือไม่ รอ “สมคิด” เคาะ 31 พ.ค.นี้ ในการประชุมร่วมกับทูตพาณิชย์

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับภาคเอกชน เพื่อหาแนวทางรับมือผลกระทบจากสงครามการค้าว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันประเมินผลกระทบตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันของสงครามการค้าที่มีต่อการค้า และการส่งออกของไทย รวมถึงมีสินค้าใดได้รับผลกระทบบ้าง ซึ่งพบว่า ตั้งแต่เริ่มต้นสงครามการค้าในปี 61 ทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยตั้งแต่ปี 61 ถึง 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) ปี 62 หายไปแล้ว 630.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลง 0.19% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่หากนับเฉพาะเดือนม.ค.-เม.ย.62 มูลค่าการส่งออกของไทยลดลงแล้ว 1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับมูลค่าการส่งออกที่หายไป 630.3 ล้านเหรียญฯนั้น มาจากการที่ไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯในกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯใช้มาตรการเซฟการ์ดปรับขึ้นภาษีนำเข้า ทั้งเหล็กและอะลูมิเนียม รวมถึงเครื่องซักผ้า และแผงโซลาเซลล์จากทั่วโลก ลดลง 32.1 ล้านเหรียญฯ หรือลดลง 6.7% และไทยส่งออกสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน ลดลง 1,337 ล้านเหรียญฯ หรือลดลง 8% แม้จะส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯในสินค้าบางกลุ่มที่สหรัฐฯนำเข้าจากไทยเพื่อทดแทนจากจีน ได้เพิ่มขึ้น 738.8 ล้านเหรียญฯ หรือเพิ่มขึ้น 6.3%

ชุติมา บุณยประภัศร

”มูลค่าการส่งออกที่ลดลง ถือว่ายังไม่สูงมากนัก และจะมีทั้งกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบ และผลดีโดยกลุ่มที่ได้รับผลดี  เช่น  รองเท้า เคมีภัณฑ์  เครื่องแต่งกาย  ที่บังมีโอกาสขยายตัว  ส่วนกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังแต่สามารถปรับตัวได้ ก็ให้ที่ประชุมร่วมกันหาแนวทางผลักดันให้ส่งออกขยายตัว พร้อมกับหาแผนรับมือต่อไป”

สำหรับแผนการรองรับผลกระทบจะมีทั้งระยะสั้น กลาง และยาว โดยในระยะสั้น คือ  รุกตลาดใหม่ให้มากขึ้น หามาตรการป้องกันตัวเองและติดตามเฝ้าระวังการสวมสิทธิ์สินค้าไทยเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ส่วนระยะกลาง จะต้องเร่งเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพื่อไม่ให้เกิดการเสียบเปรียบด้านการค้า ขณะที่ระยะยาว ไทยจะต้องปรับโครงสร้างสินค้าส่งออก ให้มีสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม และสินค้าเกษตรมากขึ้น จากปัจจุบันที่สินค้าส่งออกหลักของไทยจะเป็นสินค้าอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่, ปรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน, มีการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 

”ปัญหาสงครามการค้า น่าจะยืดเยื้อ จึงจะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในการประชุมวันที่ 11 มิ.ย.นี้ จัดตั้งวอร์รูม หรือศูนย์ติดตามสถานกรณ์สงครามการค้า โดยจะเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการจากสถาบันต่างๆ มาร่วม เพื่อให้การแก้ปัญหาทันกับสถานการณ์ และเพื่อให้การแก้ไขปัญหามีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึจะเสนอมาตรการแก้ปัญหาทั้ง 3 ระยะให้พิจารณาด้วย” 

ส่วนเป้าหมายการส่งออกของไทยในปีนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้ปรับเป้าหมายใหม่ เพราะต้องรอหารือในการประชุมทูตพาณิชย์ ร่วมกับภาคเอกชน เพื่อประเมินสถานการณ์อีกครั้งในวันที่ 31 พ.ค.นี้ โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งเดิมกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายมูลค่าส่งออกขยายตัว 8% จากปี 61 มูลค่าประมาณ 272,000 ล้านเหรียญฯ แต่ภาคเอกชน ประเมินขยายตัวได้เพียง 0-1% เท่านั้น

บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในการประชุมวันที่ 29 พ.ค. เป็นการรับฟังสถานการณ์ ปัจจัยบวก ปัจจัยลบที่กำลังเปลี่ยนไป หลังจากมีแนวโน้มอังกฤษอาจทบทวนการออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) ซึ่งจะทำให้การเจรจาการค้าไทยกับยุโรปเดินหน้า, ท่าทีผ่อนคลายของสหรัฐฯกับจีนในการใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้า และพิจารณาปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น ค่าเงินบาท ราคาน้ำมัน การย้ายฐานผลิตสินค้าหลังเกิดเทรดวอร์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จากเดิมคิดว่า สงครามการค้าอาจหนัก แต่จากปัจจัยต่างๆ ที่ผ่อนคลาย อาจทำให้การส่งออกไทยไม่ติดลบ แต่อาจไม่ขยายตัวตามเป้าหมาย 8% แต่จะพยายามผลักดันให้ในช่วงเดือนพ.ค.-ธ.ค.62 มูลค่าต่อเดือนได้ที่ 21,000-22,000 ล้านเหรียญฯ