พาณิชย์แจ้งข่าวดี! “มาม่า” ยันไม่ขึ้นราคาขาย

  • หวังช่วยลดค่าครองชีพประชาชนยุควิกฤตโควิด
  • ก้มหน้าลุยบริหารจัดการต้นทุนภายในเอง
  • แต่วอนรัฐดูแลต้นทุนแฝงที่เพิ่มจากนโยบายรัฐ

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์ราคาสินค้อุปโภคบริโภคทั่วไป พบว่า ยังไม่มีผู้ผลิตสินค้ารายการใดทำเรื่องขอปรับขึ้นราคามาที่กรมการค้าภายใน ส่วนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา “มาม่า” ซึ่งเป็นสินค้ามวลชน เพราะได้รับนิยมจากผู้บริโภคนั้น ล่าสุดผู้บริหารของบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ได้ยืนยันกับกระทรวงพาณิชย์ว่า จะไม่ปรับขึ้นราคามาม่าซอง เพื่อเป็นการร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนในสถานการณ์ปัจจุบัน

“ผู้ผลิตมาม่ายืนยันว่าจะไม่ขึ้นราคา เพราะอยากจะเป็นผู้นำในการร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ ไม่ปรับขึ้นราคาสินค้าแม้ว่าต้นทุนในการผลิตเพิ่มขึ้นมาก ทั้งราคาน้ำมันปาล์ม และแป้งสาลี แต่จะพพบยายามบริหารจัดการต้นทุนและเกลี่ยต้นทุนเอง เพื่อไม่ให้ต้องปรับขึ้นราคาจนกระทบกับผู้บริโภค ถือว่า เป็นข่าวดีและกระทรวงพาณิชย์จะแสวงหาความร่วมมือกับทุกฝ่าย เพื่อตรึงราคาสินค้าและลดค่าของชีพให้กับประชาชนต่อไป”

อย่างไรก็ตาม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณชิย์ ยังได้มอบนโยบายให้กรมการค้าภายในเร่งหารือกับผู้ผลิตสินค้ารายอื่นๆ เพื่อขอความร่วมมือตรึงราคาขายสินค้าต่อไป เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยให้เน้นสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันต้นทุนการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกยี่ห้อ ได้ปรับตัวสูงขึ้น จากราคาวัตถุดิสำคัญที่ปรับขึ้นมากตลอดปี 64 ทั้งน้ำมันปาล์ม และแป้งข้าวสาลี และการที่มาม่ายืนยันไม่ปรับขึ้นราคา เพราะไม่ต้องการสร้างภาระด้านค่าครองชีพให้กับประชาชนอีก โดยจะใช้วิธีการบริหารจัดการภายใน เพื่อลดต้นทุนในด้านอื่นๆ ลงมา เพื่อคงราคาขายเดิมไว้ต่อไป

แต่สำหรับต้นทุนภายนอก ที่เกิดขึ้นจากนโยบายรัฐ ที่บริษัทไม่สามารถบริหารจัดการได้เอง ต้องการภาครัฐเข้ามาช่วยดูแล ทั้งการพิจารณาไม่ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) เพื่อเก็บภาษีเอดีสินค้าฟิล์มบีโอพีพี ซึ่งเป็นวัตถุดิบของการผลิตบรรจุภัณฑ์ ที่ไม่ใช่แค่จะกระทบต่อต้นทุนซองมาม่า แต่ยังกระทบต่อต้นทุนบรรจุภัณฑ์ของสินค้าอุปโภคบริโภคชนิดอื่นๆ อีกมาก รวมทั้งการเตรียมขึ้นภาษีความเค็มของกระทรวงการคลัง ที่จะส่งผลกระทบต่อมาม่าและสินค้าอุปโภคบริโภคอีกหลายชนิดเช่นกัน