พาณิชย์ย้ำปุ๋ยไม่ขาดแคลนแม้มีวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน

  • ผู้ค้าเร่งนำเข้าจากซาอุฯแทนรับฤดูกาลผลิตปีนี้
  • มั่นใจพาณิชย์ไฟเขียวให้ขึ้นราคาตามต้นทุนพุ่ง
  • แต่ทยอยขึ้นไม่อยากปรับขึ้นมากหวั่นกระทบยอดขาย

นายวัฒนศักดิ์​ เสือเอี่ยม​ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับ 3 สมาคม​ผู้ผลิต​ ผู้จำหน่ายและนำเข้าปุ๋ยเคมี​ประกอบด้วย​สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย และสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร เพื่อหารือถึงสถานการณ์ปุ๋ยเคมีในขณะนี้ ว่า เอกชนยืนยันว่าปุ๋ยมีเพียงพอสำหรับฤดูกาลเพาะปลูกที่จะเริ่มในเดือนพ.ค.65 เพราะเตรียมการนำเข้ามาเป็นระยะๆ และสั่งซื้อล่วงหน้าแล้ว ทั้งปุ๋ยยูเรีย โพแทสเซียม และฟอสเฟต ทำให้มั่นใจว่า ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จะไม่มีปัญหาปุ๋ยขาดแคลน และช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ ก็ไม่น่ามีปัญหาเช่นกัน

“ผู้ประกอบการยืนยันจะเร่งนำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยสั่งซื้อไว้ล่วงหน้าแล้วบางส่วน และขณะนี้ ได้มีวางแผนสั่งซื้อต่อเนื่อง แต่อาจจะสะดุดบ้าง เพราะแหล่งนำเข้าสำคัญหลายแห่ง มีปัญหาจากผลกระทบของสงคราม และบางประเทศได้สำรองไว้ใช้ในประเทศ ทำให้ปริมาณในตลาดลดลง ซึ่งผู้ประกอบการแก้ปัญหาด้วยการหาแหล่งนำเข้าอื่นๆ ทดแทน เช่น ซาอุดิอาระเบีย ที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญอีกแหล่งหนึ่งของโลก   

สำหรับการปรับขึ้นราคาปุ๋ยเคมีตามต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นนั้น กรมได้ขอให้ผู้ประกอบการส่งต้นทุนมาให้พิจารณาแล้ว ซึ่งจะพิจารณาตามต้นทุนที่แท้จริง และจะอนุญาตให้มีปรับขึ้นราคาตามต้นทุน ไม่ใช่ให้ขึ้นเท่ากันหมดทุกสูตร ทุกราย เพราะผู้ประกอบการแต่ละราย ปุ๋ยแต่ละชนิด มีต้นทุนไม่เท่ากัน ที่สำคัญ การปรับขึ้นราคา ต้องไม่เป็นภาระกับเกษตรกรมากเกินไป ขณะที่ผู้ประกอบการยังประกอบธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งทุกอย่างจะต้องสมเหตุสมผล เพราะหากไม่ให้ขึ้นราคา จะมีปัญหาขาดแคลน ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่ตามมาอีก

ส่วนต้นทุนปุ๋ยในปัจจุบัน ผู้ประกอบการแจ้งว่า ปุ๋ยสูตรหลักๆ ปรับสูงขึ้น เช่น ปุ๋ยยูเรีย ราคาส่งออก ณ ท่าเรือต้นทาง (เอฟโอบี) ตันละ 960-1,000 เหรียญสหรัฐฯ ฟอสเฟต ตันละ 1,100-1,200 เหรียญฯ และโพแทสเซียม ตันละ 950-1,000 เหรียญฯ สูงขึ้นจากเดิม 100-200% แต่การอนุญาตให้ปรับขึ้นราคา จะไม่อนุญาตให้ขึ้นตามต้นทุน เพราะยังมีสต๊อกเก่า ที่ต้นทุนต่ำกว่าเหลืออยู่บางส่วน แต่จะพิจารณาให้ตามเหมาะสม และตามต้นทุนที่แท้จริง

นอกจากนี้ กรมยังขอความร่วมมือให้สมาคม ช่วยดูแลสมาชิก หากพบว่า ผู้ประกอบการรายใดกักตุน ฉวยโอกาสปรับขึ้นราคา ขอให้ตัดสิทธิ์ไม่ให้เป็นผู้จัดจำหน่ายอีก และกรมจะดำเนินคดีตามกฎหมายถึงที่สุดทุกราย พร้อมขอความร่วมมือให้พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ติดตาม ตรวจสอบปริมาณและการจำหน่ายปุ๋ยอย่างใกล้ชิด

ด้านตัวแทนผู้ค้าปุ๋ยแจ้งว่า ผู้ค้าคงไม่ปรับขึ้นราคาถึง 100-200% ตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เพราะจะทำให้ เกษตรกรและประชาชนเดือดร้อน แต่อาจขอให้พิจารณาทยอยขึ้นเป็นรอบๆ เช่น ขอปรับขึ้นก่อน 10-20% ตามต้นทุน และน่าจะเริ่มเห็นในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกใหม่นี้ ซึ่งที่จริงภาคเอกชนไม่อยากขึ้นราคาสูงมาก เพราะอาจกระทบต่อยอดขาย เนื่องจากมีคู่แข่งขันในตลาดปุ๋ยหลายยี่ห้อ เกษตรกรอาจหันไปซื้อยี่ห้ออื่น หรือปรับใช้ปุ๋ยสูตรอื่นแทน ขณะเดียวกัน กรมการค้าภายใน ก็กำชับให้คิดต้นทุนที่เป็นธรรม โดยจะต้องนำต้นทุนสต็อกเก่า มาคำนวณเฉลี่ยกับต้นทุนใหม่ ที่กำลังจะนำเข้าด้วย  จะคิดต้นทุนใหม่ในปัจจุบันอย่างเดียวไม่ได้