พัทยาพร้อม… “สนธยา” ลงพื้นที่ตรวจระบบการจัดการน้ำ เตรียมรับมือฝนกระหน่ำปลายเดือน ก.ย.

วันนี้ (26 ก.ย.64) นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา พร้อมคณะผู้บริหารและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจความพร้อมมาตรการรับมือปัญหาน้ำท่วมเมืองพัทยา บริเวณคลองระบายน้ำหลัก และโครงการวางท่อระบายน้ำ ทั้งในเขตพัทยาเหนือและพัทยาใต้ หลังจากที่ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าช่วงปลายเดือน ก.ย.นี้ประเทศไทยยังต้องเผชิญอิทธิพลลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้พื้นที่ภาคตะวันออกอาจมีฝนตกหนักต่อเนื่อง

นายสนธยา กล่าวว่า ปัจจุบันเมืองพัทยามีศักยภาพเต็มที่ ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมขังเร็วขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะจุดวิกฤตที่เป็นปัญหาท่วมซ้ำซาก หรือชุมชนเดิมซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยสามารถใช้เวลาระบายน้ำสั้นลงมาก และฟื้นฟูกลับสู่สภาพปกติได้เร็ว โดยมีทีมงานพร้อมเข้าช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนทันที ไม่ว่าจะเป็น ชุมชนนาเกลือ ชุมชนซอยแตงโม บัวขาว บงกช โซนพัทยากลาง ชุมชนถนนเทพประสิทธิ์ และชุมชนซอยวัดบุญสัมพันธ์ หาดจอมเทียน และถนนสุขุมวิท ฯลฯ โดยได้มีการวางระบบสูบน้ำ 12 จุดหลัก และเครื่องปั๊มย่อยพร้อมเคลื่อนที่ได้ตลอดเวลา

“ตัวอย่างกรณีหมู่บ้านฟ้าริมหาด ซึ่งชุมชนนี้อยู่ต่ำกว่าถนนมาก ทำให้น้ำท่วมมิดรถยนต์เกือบทั้งคัน โดยเมืองพัทยาได้ส่งทีมช่างสุขาภิบาลและกู้ภัยระดมสูบน้ำออกได้ภายในเวลา 1 วันและเข้าไปดูแลซ่อมแซมความเสียหาย จนสามารถกลับมาใช้งานได้ปกติ หรือชุมชนพื้นที่พัทยาใต้สามารถระบายได้เสร็จภายใน 30-45 นาทีเท่านั้น” นายสนธยา กล่าว

ทั้งนี้ ถ้าปริมาณน้ำฝนไม่สูงเกินค่ามาตรฐาน ดังเช่นเมื่อวันที่ 7-8 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งวัดได้ในเมืองพัทยาถึง 194 มม. มากกว่าค่าเฉลี่ยโดยทั่วไปถึง 100% ซึ่งก็มั่นใจว่า เมืองพัทยาจะไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมขังเป็นเวลานานแน่นอน ยกเว้นบางพื้นที่อาจมีน้ำไหลผ่านบ้าง แต่จะลดลงเร็วไม่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ และจะมีระบบแจ้งเตือนภัยประชาชนล่วงหน้า

นายสนธยา กล่าวว่า ส่วนมาตรการที่เมืองพัทยาจะเดินหน้าต่อ คือการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างผิดกฎหมายที่รุกล้ำลำรางสาธารณะ คลองระบายน้ำต่างๆ เราเน้นขอความร่วมมือก่อน ถ้าไม่ยินยอมก็จะใช้ช่องทางกฎหมาย แต่ส่วนใหญ่ได้รับความยินยอมดี ขณะนี้ ได้มีการรื้อถอนไปแล้วมากกว่า 100 หลัง เช่นใน คลองนาเกลือ คลองปึกพลับ แก้ปัญหาน้ำท่วมได้มาก รวมถึงการเปิดทางน้ำไหลลงสู่ทะเลให้เร็ว การตัดทางน้ำลงสู่ทะเล ลดระดับฟุตบาทที่กีดขวางให้ต่ำลงและหากเกิดน้ำเซาะทรายชายหาด เราก็ปรับภูมิทัศน์คืนเหมือนเดิมได้เร็ว พร้อมทั้งเร่งโครงการวางท่อขนาดใหญ่เพื่อช่วยการระบายน้ำไปจุดพักน้ำได้รวดเร็ว ซึ่งโครงการจะแล้วเสร็จในปี 2566