พร้อมลุย… ปตท.สผ.ตั้งเป้าปริมาณขาย ปิโตรเลียมปี 65 ขยับขึ้น 7% ลุ้นจบดีลซื้อกิจการเพิ่มชัดเจนต้นปีหน้า

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ในปี 2565 บริษัทตั้งเป้าปริมาณการขายปิโตรเลียมจะเติบโตขึ้น 6-7% จากปีนี้บริษัทได้ปรับเพิ่มเป้าหมายการขายปิโตรเลียมเป็น 4.17 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เนื่องจากรับรู้การขายเต็มปีจากโครงการโอมาน แปลง 61 และโครงการมาเลเซีย แปลงเอช รวมทั้งรับรู้การขายเพิ่มขึ้นจากแหล่งเอราวัณ (G1/61) และแหล่งบงกช (G2/61) เพิ่มเข้ามา ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) และโครงการในแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ราเคซด้วย นอกจากนี้ บริษัทมีโครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อร่วมทุนหรือซื้อกิจการ (M&A) คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในต้นปีหน้า ทำให้บริษัทรู้รายได้ทันที

นายมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการเข้าพื้นที่ในแหล่งเอราวัณว่า ขณะนี้ ปตท.สผ. ยังคงไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นผลิตและท่อใต้ทะเลได้ตามแผน ทั้งนี้บริษัทจะยอมรับเงื่อนไขการเข้าพื้นที่ของเชฟรอนฯ ในฐานะผู้รับสัมปทานปัจจุบันแล้วก็ตาม ทำให้มีผลกระทบต่อการผลิตก๊าซธรรมชาติตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ที่กำหนดผลิตก๊าซฯ800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ประสานงานกับผู้ซื้อและหน่วยงานรัฐอย่างต่อเนื่องเพื่อวางแผนให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และจะพยายามเร่งการลงทุนในแหล่งบงกชและแหล่งอาทิตย์เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯ มาชดเชยปริมาณการผลิตที่หายไปบางส่วน

โดยคาดว่าปีหน้าจะเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งอาทิตย์ได้อีก 60 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันจากปัจจุบันผลิตอยู่ 220 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยตั้งเป้าหมายจะเพิ่มกำลังผลิตเป็น 330 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันใน 2-3 ปีข้างหน้าและแหล่งบงกชจะผลิตขึ้นเป็น 820-850 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สูงกว่าสัญญา PSC ที่กำหนดว่าต้องผลิต 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ทั้งนี้สำหรับทิศทางราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงในช่วงนี้ ทำให้ราคาขายก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยในปี 2565 ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 5.7-6 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู และราคาน้ำมันดิบจะอยู่ที่ 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับราคาที่โอเปกพลัสต้องการหลังมีประสบการณ์สงครามราคาน้ำมันเมื่อปีที่แล้ว โดย ปตท.สผ.ตั้งเป้ารักษาระดับต้นทุนการผลิตต่อหน่วยอยู่ที่ประมาณ 28-29 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ

นายมนตรี กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ความท้าทายในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน ปตท.สผ.วางแนวทางการดำเนินธุรกิจ โดยเน้น 3 เรื่องหลัก ดังนี้ 1. สร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมซึ่งเป็นธุรกิจหลัก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน เน้นการลงทุนในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ ปตท.สผ.มีความชำนาญ ได้แก่ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันออกกลาง โดยจะเพิ่มสัดส่วนก๊าซธรรมชาติเป็น 80% และน้ำมัน 20% ควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านเทคโนโลยีการดักจับ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Storage หรือ CCS)

2. ลงทุนในธุรกิจใหม่ (Beyond E&P) 3 ด้าน คือ ธุรกิจด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ โดยลงทุนผ่านบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือเออาร์วี (ARV) เน้นการลงทุนใน 4 ธุรกิจ คือ Rovula สำรวจ และซ่อมแซมอุปกรณ์ใต้ทะเล, Varuna สำรวจและประมวลผลด้วยปัญญาประดิษฐ์สำหรับเกษตรอัจฉริยะ, Skyller ตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานในอุตสาหกรรมต่างๆผ่านแพลตฟอร์ม เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์, Cariva เครือข่ายด้านสุขภาพพัฒนาเทคโนโลยี IoT โดยจะหาพาร์ตเนอร์เพื่อผลักดันให้เป็น Startup

ส่วนธุรกิจไฟฟ้าที่ต่อยอดจากก๊าซธรรมชาติ เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ (Gas to Power) ในเมียนมาและพลังงานหมุนเวียน จะมองหาโอกาสการลงทุนกับพันธมิตรที่มีศักยภาพ

3. ลงทุนในธุรกิจที่รองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน ซึ่งมุ่งสู่พลังงานสะอาด และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยมองโอกาสการลงทุนด้านเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage หรือ CCUS) พลังงานรูปแบบใหม่ในอนาคต (Future Energy) เช่น พลังงานไฮโดรเจน โดยตั้งเป้าหมายว่าบริษัทมีกำไรจากธุรกิจใหม่มีสัดส่วน 20% ในปี 2573