พบแล้วรายแรก… สธ. เผยพบผู้ป่วยฝีดาษลิง 1 ราย เป็นชาวยุโรป เดินทางมาพักเครื่องในไทย ก่อนไปปลายทางที่ออสเตรเลีย

  • เผยขณะนี้ ต้องติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดเป็นผู้โดยสารเครื่องบินและลูกเรือรวม 12 คน
  • ชี้ติดตามมาแล้ว 7 วัน ยังไม่มีอาการ จากนี้ต้องติดตามต่อไปให้ครบ 21 วัน
  • ย้ำฝีดาษลิง เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง สามารถไปทำงานได้ตามปกติ
  • ย้ำหากมีอาการให้รีบแจ้ง แต่หากเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงต้องแยกกักตัว

วันนี้ (30 พ.ค.65) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขกล่าวถึงการเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง ว่า จากการตรวจสอบที่ท่าอากาศยาน หรือสนามบิน พบว่ามีชาวต่างชาติ 1 ราย ที่บินมาจากประเทศทางยุโรปเดินทางเข้ามาในประเทศไทย และแวะพักเครื่องระหว่างทางที่ไทยหรือทรานซิท เพื่อต่อไปยังประเทศออสเตรเลีย โดยใช้เวลาทรานซิทประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งยังไม่มีอาการ แต่ไปพบอาการที่ประเทศออสเตรเลีย ดังนั้นรายนี้ในส่วนของผู้สัมผัสใกล้ชิดยังไม่สัมผัสเสี่ยงสูง แต่มีการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด ที่เป็นผู้โดยสารเครื่องบินและลูกเรือรวม 12 คน ซึ่งติดตามแล้ว 7 วัน ยังไม่มีอาการ ซึ่งจากนี้ก็ต้องติดตามต่อไปให้ครบ21 วัน

ทั้งนี้เมื่อถามถึงการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดในผู้ป่วยที่มาทรานซิทในประเทศไทย นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้ไม่มีอาการ และมาทรานซิทในไทยไม่นาน ระหว่างนั้นไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดกับใคร มีการสวมหน้ากากอนามัยตลอด ดังนั้นผู้สัมผัสใกล้ชิดจะไม่ใช่กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง ตอนนี้ไม่มีอาการใดๆ

อย่างไรก็ตามโรคนี้เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง สามารถไปทำงานได้ตามปกติ หากมีอาการให้รีบแจ้ง แต่หากเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงต้องแยกกัก 21 วันที่บ้าน

“การติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดอยู่บนเครื่องบิน เนื่องจากผู้ป่วยที่เดินทางไปออสเตรเลียอีกหลายวันจึงพบเชื้อ ยังดีที่ผู้ป่วยนั่งในชั้น Business class นั่งห่างกันพอสมควร การติดเชื้อไม่ง่าย ต้องใกล้ชิดจริงๆ ถ้าอยู่ห่างๆ เพราะเชื้อไม่ได้ลอยไปเอง อย่างเหตุการณ์ในยุโรป จะมีการใกล้ชิด กอดจูบ ดังนั้นโรคนี้ไม่ได้ติดต่อง่าย ต้องสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยในระยะที่ป่วยด้วย” นพ.จักรรัฐ กล่าว

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ขณะที่มีการรายงานข้อมูลผู้ป่วยเข้าข่ายอาการ 5 ราย ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวไอซ์แลนด์ 3 ราย ที่เป็นพี่น้อง โดยเดินทางเข้าไทยเพื่อมาเรียนมวยไทยที่ จ.ภูเก็ต และพบว่าทั้ง 3 คน มีอาการเข้าข่ายเป็นโรคฝีดาษลิง มีตุ่มนูนใสตามลำตัว แต่เมื่อนำไปตรวจด้วยวิธี RT-PCR จาก 2 ห้องปฏิบัติการ คือ ของกรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ และศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิกโรงพยาบาลจุฬาฯ พบผลยืนยันว่าเป็นโรคเริมเท่านั้น

นอกจากนี้เมื่อถามว่า เชื้อฝีดาษลิง จะอยู่บนสิ่งของนานแค่ไหน นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ยังต้องติดตามข้อมูลในส่วนนี้ต่อเมื่อถามถึงมีนักวิชาการะบุว่า เชื้อนี้แพร่เร็ว 10 เท่า นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ต้องติดตามข้อมูลเช่นกัน เพราะยังไม่ได้รับการยืนยันจากองค์การอนามัยโลก (WHO)

นพ.จักรรัฐ กล่าวต่อว่า สำหรับคนที่ไปร่วมงานเฟสติวัลในต่างประเทศ หรือร่วมกิจกรรมที่มีความเสี่ยง หากมีอาการและมาพบแพทย์ขอให้แจ้งแพทย์ด้วยว่า มีประวัติร่วมกิจกรรม อย่างไรก็ตาม สำหรับประชาชนไทยที่เดินทางกลับมานั้น หากเราไม่ได้ร่วมกิจกรรมเสี่ยง และยังปฏิบัติตัวตามมาตรการส่วนบุคคล ทั้งสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ก็ไม่ต้องกังวล เพราะสามารถป้องกันโควิด และฝีดาษวานร และโรคอื่นๆได้  ซึ่งคนไทยที่จะเดินไปต่างประเทศก็เช่นกันขอให้ปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคล หลีกเลี่ยงกิจกรรมเสี่ยงก็จะป้องกันได้

“สำหรับคุณหมอที่อายุน้อยกว่า 60 ปี อาจไม่เคยเห็นลักษณะฝีดาษ จึงขอให้ตั้งคำถามสงสัยว่า เป็นฝีดาษลิงไว้ก่อนโดยพิจารณาจากประวัติเสี่ยง ซึ่งผู้ที่เข้ามาในบริการในโรงพยาบาลทุกท่าน หากมีประวัติร่วมกิจกรรมเสี่ยง ขอให้แจ้ง ไม่ต้องกังวลโรคนี้ ส่วนใหญ่หายเอง จะได้รับการรักษา และจะลดการแพร่ระบาดไปสู่คนอื่นได้” นพ.จักรรัฐ กล่าว