ประเมินสมรรถนะตามหลัก WHO ไทยรับมือโควิด “ดีมาก”พร้อมสู่การเป็นโรคประจำถิ่น

  • อยู่ในระยะปรับตัวเข้าสู่การยุติการระบาดใหญ่
  • โควิดชะลอการเพิ่มจำนวน
  • มีการฉีดวัคซีนจำนวนมากกว่า 125 ล้านโดส

วันที่ 5 มีนาคม 2565 นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง ประธานคณะกรรมการ MIU และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากนโยบายของนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวง ซึ่งให้มีการวางแผน เตรียมความ และการบริหารจัดการเพื่อรับมือสถานการณ์โควิด 19 ทุกระยะตั้งแต่เริ่มระบาดจนถึงการเตรียมความพร้อมการเข้าสู่การเป็น “โรคประจำถิ่น” อย่างดีสุด

ล่าสุด ทีมวิจัยกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประเมินผลการรับมือสถานการณ์โควิด 19 โดยลงพื้นที่จริงทั้งในระดับประเทศ และในระดับพื้นที่ จำนวน 8 พื้นที่หลัก และ 44 พื้นที่ย่อย เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย การเตรียมความพร้อมและมาตรการสำคัญเพื่อรับมือสถานการณ์ในระยะถัดไปจนสู่การยุติการระบาด ผลการประเมินตามสมรรถนะหลักขององค์การอนามัยโลก(WHO) และการถอดบทเรียน ทบทวนหลังปฎิบัติงาน (After Action Review : AAR) พบว่า

1.ประเทศไทยและกระทรวงสาธารณสุข มีสมรรถนะและการรับมือสถานการณ์อยู่ในระดับดีมาก ใน 7 องค์ประกอบหลัก เช่น ภาวะผู้นำ การบริหารจัดการ กำลังคน ยา เวชภัณฑ์ วัคซีน ระบบบริการ การมีส่วนร่วมภาคส่วนต่างๆ

2.สถานการณ์ส่วนใหญ่ทั่วโลกและประเทศไทย อยู่ในระยะการปรับตัวเข้าสู่ ”การยุติการระบาดใหญ่ (Pandemic Ending) เป็น “โรคประจำถิ่น (Endemic)” ด้วยปัจจัยของเชื้อที่พบส่วนใหญ่ลดความรุนแรงลงมาก เช่น สายพันธุ์โอมิครอน เป็นต้น

แม้ว่า ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อในประเทศจำนวนมาก แต่สถานการณ์อยู่ในระยะทรงตัวและชะลอการเพิ่มจำนวน จากการพยากรณ์คาดว่า สถานการณ์การติดเชื้อในประเทศจะดีขึ้นตามลำดับและเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นในต้นเดือนกรกฎาคม 2565 นี้

ส่วนปัจจัยสำคัญในการยุติการระบาดใหญ่ คือ ระดับภูมิคุ้มกันต่อโควิด 19 ของประชาชน แม้ประเทศไทย มีการฉีดวัคซีนจำนวนมากกว่า 125 ล้านโดส แต่ยังคงต้องขอความร่วมมือประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่จะป่วยหนักและเสียชีวิต เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยอาการรุนแรงและผู้เสียชีวิตลงให้มากที่สุด หากการฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นในกลุ่มเสี่ยงได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 70 จะลดจำนวนผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง และจากข้อมูลกรมควบคุมโรค พบว่า การได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงสามารถลดโอกาสเสียชีวิตลงได้ถึง 41 เท่า

3.ระบบบริการการแพทย์และสาธารณสุข เช่น ระบบป้องกันควบคุมโรค บุคลากร ยา เวชภัณฑ์ และจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วย มีความพร้อมในการรับสถานการณ์

อย่างไรก็ตามจะต้องมีการปรับระบบการดูแลรักษาผู้ป่วย ในลักษณะการดูแลผู้ป่วยโรคติดต่อทั่วไป เช่น ไข้หวัดใหญ่ โดยผู้ที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย ให้รักษาตัวแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ดูแลตนเองที่บ้าน และรับเป็นผู้ป่วยใน (IPD) ในกรณีที่มีอาการรุนแรง หรือเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรง การปรับระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค เข้าสู่โรคติดต่อทั่วไป เน้นการเฝ้าระวัง สอบสวน ควบคุมการระบาดที่เป็นกลุ่มก้อน เน้นการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ที่กลายพันธุ์เพิ่มความรุนแรง พิจารณาการให้วัคซีนในระยะถัดไป เป็นการให้วัคซีนประจำปีในกลุ่มเสี่ยงคล้ายการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่

นอกจากนี้ จะต้องเร่งพัฒนาระบบสาธารณสุขในเขตเมืองขนาดใหญ่ โดยเฉพาะระบบการดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิที่เข้มแข็ง จิตอาสา อาสาสมัครสาธารณสุขระดับพื้นที่ ให้เหมาะสมกับบริบท

4.ระบบเวชภัณฑ์ ยา วัคซีน สามารถบริหารจัดการได้ดี มีจำนวนเพียงพอ จากการศึกษาพบว่า การพัฒนาที่สำคัญ คือนโยบายรัฐบาลและความต่อเนื่องในการพัฒนาด้านความมั่นคงสุขภาพโดยส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการผลิตและสามารถพึ่งตนเองได้เองภายในประเทศ เช่น โรงงานผลิตวัคซีน ยา และเวชภัณฑ์ เพื่อพร้อมรับมือวิกฤติการณ์ด้านสุขภาพ และการระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่อื่นๆ ในอนาคต

5.ต้องเร่งพัฒนาระบบการสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ทันสมัยเชิงรุก ทั้งในสื่อสังคมออนไลน์ และสื่ออื่นๆ ให้มีความครอบคลุม เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม รวมถึงการบริหารจัดการข่าวปลอมที่มีประสิทธิภาพ การเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็น “โรคประจำถิ่น” ต้องเร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจ การปรับตัว ในภาคประชาชน สังคม วัฒนธรรม การใช้ชีวิตในรูปแบบวิถีใหม่ (New Normal) มาตรการทางสังคมที่ดีและเหมาะสม

จากผลการศึกษา เมื่อเทียบเคียงสถานการณ์การระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ (Pandemic Influenza) เมื่อปี พ.ศ. 2552 ขณะนี้เป็นการก้าวย่าง สู่การยุติการระบาดใหญ่ และปรับตัวไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic)

ความสำเร็จในการก้าวข้ามวิกฤตการณ์โควิด 19 วิกฤตการณ์ด้านสุขภาพที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี ให้สิ้นสุดลง ไม่สามารถทำได้โดยกระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานสุขภาพเพียงฝ่ายเดียว ความสำเร็จจะต้องเกิดจาก นโยบาย การบริหารจัดการและมาตรการในระดับชาติและพื้นที่ ให้เกิดการบริหารจัดการด้วยพลังความร่วมมือ ทั้งภาครัฐ เอกชน และที่สำคัญคือ การสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือจากประชาชน