ป.ป.ช.รายงานครม.ชำแหละกลโกงงบแก้ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ

  • ทุจริตทุกขั้นตอนทำให้เยียวยาภัยพิบัติไม่มีประสิทธิภาพ
  • สร้างหลักฐานเท็จ-เรียกหัวคิว-จัดซื้อจัดจ้างราคาสูงเกินจริง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมครม.ได้รับทราบข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการงบประมาณเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติเพื่อป้องกันการทุจริต ประกอบด้วย 1. รับทราบข้อเสนอแนะในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการงบประมาณเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติเพื่อป้องกันการทุจริตตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอ

2. ให้กระทรวงการคลัง (กค.) เร่งรัดดำเนินการศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการงบประมาณเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติเพื่อป้องกันการทุจริต ร่วมกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรายงานผลการพิจารณาดำเนินการให้คณะรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว

ทั้งนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รายงานว่า 1. ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อป้องกันและเยียวยาปัญหาดังกล่าว ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมามีข่าวการทุจริตหรือความผิดปกติ ในการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น การสร้างหลักฐานเท็จเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือวาตภัย การทุจริตขบวนการเรียกหัวคิว และการจัดซื้อจัดจ้างในราคาที่สูงเกินจริง  ทำให้การดำเนินโครงการเกี่ยวกับการป้องกันและเยียวยาภัยพิบัติไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้ศึกษา รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว สรุปได้ดังนี้

1.1 ระบบฐานข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณเกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่เชื่อมโยงกัน เช่น ระบบฐานข้อมูลเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินของกระทรวงการคลัง (กค.) (กรมบัญชีกลาง) ระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทย (มท.) (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) ระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ ของ กค. และระบบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ของ กค. (กรมบัญชีกลาง)] ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลการจัดสรรและติดตามการใช้จ่ายงบประมาณเกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติในภาพรวมได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ยังไม่ได้กำหนดรหัสงบประมาณสำหรับงบประมาณที่จะจัดสรรเพื่อแก้ไขปัญหาภัยพิบัติต่าง ๆ เป็นการเฉพาะ ในระบบงบประมาณแผ่นดิน

1.2 การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติมีการใช้งบประมาณที่ไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน ซึ่งควรมีแผนในการบริหารจัดการภัยพิบัติในภาพรวมเพื่อแก้ไขปัญหาภัยพิบัติในระยะยาว โดยมีการบูรณาการร่วมกันของแต่ละภาคส่วน

1.3 หน่วยงานไม่ส่งเอกสารเกี่ยวกับการเบิกเงินคงคลังให้แก่กรมบัญชีกลาง ทำให้กรมบัญชีกลางไม่มีข้อมูลส่งให้สำนักงบประมาณ (สงป.) เพื่อดำเนินการตั้งงบประมาณสำหรับชดใช้เงินคงคลังในปีงบประมาณถัดไปได้

2. คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นควรเสนอข้อเสนอแนะในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการงบประมาณเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติเพื่อป้องกันการทุจริต ดังนี้

มาตรการและการดำเนินการ

1. ประเด็นด้านการประกาศภัยพิบัติและการชดใช้เงินคงคลัง

1.1 พัฒนาศักยภาพสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดให้สามารถเป็นศูนย์กลางในการรับและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่       

1.2 ติดตามตรวจสอบและดำเนินการให้จังหวัดส่งเอกสารเพื่อชดใช้เงินคงคลังคืนภายในระยะเวลาที่กำหนด              

1.3 ให้มีการเปิดเผยข้อมูลจังหวัดหรือหน่วยงานที่ได้เบิกจ่ายเงินคงคลัง เพื่อแก้ไขปัญหาภัยพิบัติให้สาธารณชนรับทราบ โดยอาจเปิดเผยทุกไตรมาส เพื่อสร้างกระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุลอย่างมีส่วนร่วมแก่ทุกภาคส่วน              

2. ประเด็นด้านการพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายงบประมาณเกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ

2.1 เชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณเกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยให้มีการพัฒนาระบบคลังข้อมูลที่รองรับการเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าว และศึกษาความเป็นไปได้เพื่อให้เกิดการรวมศูนย์ระบบฐานข้อมูลในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าว     

2.2 พิจารณาศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบงบประมาณแผ่นดินให้สามารถจำแนกประเภทการใช้จ่าย โดยเฉพาะการใช้จ่ายงบประมาณที่เกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติเพื่อให้สามารถตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณในแต่ละประเภทได้ รวมถึงการพิจารณากำหนดรหัสงบประมาณสำหรับงบประมาณที่จัดสรรเพื่อการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติต่าง ๆ เป็นการเฉพาะต่อไป          

3. ประเด็นด้านการบริหารจัดการ

3.1 เพื่อลดความสูญเสียงบประมาณที่ใช้ในการป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยพิบัติอันเกิดจากภัยแล้งและอุทกภัย เห็นควรให้จัดทำผังน้ำจังหวัดและแผนพัฒนาแหล่งน้ำจังหวัดตามแนวทางพระราชดำริแก้มลิง โดยการศึกษาระดับของพื้นที่ทั้งจังหวัดและทิศทางการไหลของน้ำ การเก็บกักน้ำไว้ใช้ในรูปของประตูน้ำตามลำคลองต่าง ๆ การกำหนดจุดที่ตั้งและขนาดของแหล่งน้ำที่ควรพัฒนาหรือควรขุดลอกในแต่ละพื้นที่ประกอบกับข้อมูลความเร่งด่วนของปัญหาในพื้นที่ต่าง ๆ      

3.2 จัดทำแผนในการบริหารจัดการภัยพิบัติในภาพรวม โดยมีการบูรณาการร่วมกันของแต่ละภาคส่วนโดยเฉพาะการสอบถามความจำเป็นของชาวบ้านในพื้นที่และพิจารณาจากความเร่งด่วนและความรุนแรงของปัญหา และขนาดพื้นที่ที่เสียหายจากปัญหานั้น ๆ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ตรงจุด ตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนต่อไป            

3.3 ให้ส่วนราชการที่ได้รับงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาตินำกระบวนการตรวจสอบภายในมาใช้ในการตรวจสอบโครงการ/การดำเนินงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติทางธรรมชาติเพื่อเป็นการเฝ้าระวังและป้องกันการทุจริต