ปี 66 หนี้ครัวเรือนไทยสูงสุดรอบ 15 ปี

.ครัวเรือนมีหนี้สิน 5.59 แสนบาท เพิ่ม 11.5%
.ส่วนใหญ่กู้เพื่อประทังชีวิตแต่บางส่วนใช้จ่ายเกินตัว
.ม.หอการค้าไทยชี้ไม่ใช่ปัญหารุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ

นางอุมากมล สุนทรสุรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 66 ที่สำรวจประชาชน 1,300 ตัวอย่างทั่วประเทศ วันที่ 17-21 ก.ค.66 ว่า ผลสำรวจพบว่า ปี 66 ผู้ตอบมากถึง 99.8% มีหนี้สิน มีเพียง 0.2% ที่ตอบมี่หนี้ เพิ่มขึ้นจากปี 62 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด ที่ตอบว่ามีหนี้สินอยู่ที่ 88.1% และไม่มีหนี้อยู่ที่ 11.9%


โดยมีหนี้สินรวม 559,408.70 บาทต่อครัวเรือน สูงสุดในรอบ 15 ปี นับจากปี 52 ที่มีหนี้สินรวม 143,476.32 บาทต่อครัวเรือน ขยายตัว 11.5% จากปี 65 ที่มีหนี้ 501,711.84 บาทต่อครัวเรือน ผ่อนชำระเดือนละ 16,742 บาท โดยผู้ตอบมากถึง 31.2% มีทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ
สำหรับสาเหตุการก่อหนี้มาจากค่าครองชีพสูงขึ้น ซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ลงทุนเพิ่ม ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ผ่อนสินค้ามากเกินไป ขาดรายได้จากการถูกออกจากงาน เล่นพนัน รวมถึงขาดวินัยทางการเงิน ขาดความรู้ทางการเงิน เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายเกินไป สถาบันการเงินให้วงเงินสูงเกินไป การลอกเลียนแบบการบริโภคของคนในสังคมออนไลน์ มีการกระตุ้นการใช้จ่ายต่อเนื่อง เช่น จัดโปรโมชัน


ส่วนความสามารถในการชำระหนี้ มากกว่า 50% สามารถชำระหนี้ได้น้อยถึงปานกลาง และบางส่วนไม่สามารถชำระได้ โดยหนี้ส่วนบุคคล กลุ่มที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพนักงานเอกชน รับจ้างทั่วไป และรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท


สำหรับข้อเสนอแนะการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ได้แก่ หาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ, ให้ความรู้ในการบริหารหนี้ และการวางแผนใช้จ่าน, ฝึกอบรม เพิ่มทักษะวิชาชีพ, ให้ความรู้การใช้จ่ายอย่างพอเพียง, เพิ่มสวัสดิการให้ผู้มีรายได้น้อย, สถาบันการเงินควรคัดกรองการปล่อยกู้ หรือจำกัดวงเงิน เป็นต้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนมีโอกาสสูงขึ้น และวงเงินก่อหนี้ น่าจะพีคสุดในช่วงปี 67 ส่วนหนี้ครัวเรือนในปี 66 สูงสุดจากที่ทำการสำรวจมาในรอบ 15 ปี โดยมีผลพวงมาจากเศรษฐกิจไทยไม่ดี เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการระบาดของโควิด ตั้งแต่ปี 62-63 ทำให้คนก่อหนี้มากขึ้น และเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่ควรจะเป็น ต่อให้มีการเลือกตั้ง ความแน่นอนทางเศรษฐกิจก็ยังไม่ชัด ทำให้คนคาดว่าต้องเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพสูง รายได้ต่ำไปจนถึงต้นปีหน้า


อย่างไรก็ดี ภาพรวม มองว่าแม้หนี้ครัวเรือนในปัจจุบันจะขึ้นไปแตะ 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แต่แนวโน้มจีดีพีที่สูงขึ้น ประกอบกับ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว และครัวเรือนไม่ตั้งใจจะก่อหนี้มากขึ้น จึงมองว่าหนี้ครัวเรือนไม่ใช่ปัญหารุนแรงต่อภาพรวมเศรษฐกิจ แต่เป็นปัญหาระดับบุคคล ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสถาบันการเงิน กำลังเร่งแก้ไขอยู่ ขณะเดียวกัน รัฐบาลใหม่ต้องเร่งฟื้นเศรษฐกิจโดยเร็ว และมีโครงการพิเศษดูแลหนี้ประชาชน


สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองนั้น จากสัญญาณทางการเมืองขณะนี้ น่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว ทำให้รัฐบาลจัดทำงบประมาณได้เร็ว และมีนโยบายออกมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงการท่องเที่ยวดี น่าจะทำให้ปีนี้เศรษฐกิจไทยโตได้ 3.1-3.5% ส่วนในช่วงวันหยุดยาว 6 วันนี้ คาด จะมีเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจ 6,000-9,000 ล้านบาท