“ปิยบุตร” อภิปรายรายงานศาลรัฐธรรมนูญ ไม่กล้าสอบ คสช.ไม่เชื่อมโยงกับประชาชน

  • ชี้การวิจารณ์ไม่ใช่ ละเมิดอำนาจ แต่เป็นการถ่วงดุลย์-เกราะคุ้มกันให้

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ที่อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ร่วมอภิปรายรายงานประจำปี 2560 ของศาลรัฐธรรมนูญ โดย กล่าวตอนหนึ่งว่า ตนเองเป็นหนึ่งในคนที่สนับสนุนการมีอยู่ของศาลรัฐธรรมนูญ อีกทั้ง เป็นคนที่วิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญบ่อยมาก ตลอดจนมีคดีหมิ่นประมาทอยู่ด้วย สำหรับประเทศไทยแล้ว ที่มาศาลรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชน สภาผู้แทนราษฎรเราแทบไม่ได้มีโอกาสมีส่วนในการได้มาของศาลท่านเลย เรื่องนี้มองว่าเป็นปัญหา เพราะศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ต้องเผชิญหน้ากับองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน แต่กลับไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนกับสภาผู้แทนราษฎร สำหรับรายงานฉบับนี้ ตนอ่านแล้วต้องชื่นชมว่าทำได้ดี เพราะมีการสรุปตัวเลข สรุปจำนวนคดี สรุปคำวินิจฉัยสำคัญ รวมถึงงานวิจัยสำคัญ หากเทียบกับรายงานขององค์กรอื่นๆ ถือว่าทำได้ดี ทั้งนี้ ตนมี 2 ประเด็นที่จะอภิปราย คือ

1.สถิติคดีแต่ละปีที่ศาลรัฐธรรมนูญรวบรวมย้อนหลังตั้งแต่ปี 2551 ถึง 2560 เมื่อดูแล้วก็จะเห็นว่าเป็นสถิติที่มีนัยสำคัญ ทั้งนี้ โดยหลักการแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญเป็น องค์กรที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ รักษาหลักนิติรัฐ ดังนั้น เมื่อมีการรัฐประหารยึดอำนาจ จะต้องมีการออกประกาศยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ หรือยุบศาลรัฐธรรมนูญทิ้ง ซึ่งประเทศเราเคยทำมาแล้ว เมื่อครั้ง คปค.รัฐประหารปี 2549 แล้วฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 ยุบศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้นตั้งคณะตุลาการใช้เป็นการชั่วคราว แต่ทว่าในการรัฐประหาร ปี 2557 โดย คสช. ล่าสุด เป็นรัฐประหารที่แปลกทั้งในประเทศไทยและสากล เพราะเมื่อรัฐประหารแล้ว มีการฉีกรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ศาลรัฐธรรมนูญยังได้อยู่ต่อ โดยที่ คสช. ไม่กังวลใจเลยว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะทำหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจของตนเอง อีกทั้ง เมื่อมีการใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ม.57 ก็มีการรับรองให้การรัฐประหารไม่มีวันผิด ประกาศคำสั่งต่างๆ ของ คสช. ไม่มีวันขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อสภาพเป็นอย่างนี้ จึงเป็นธรรมดาที่จำนวนคำร้อง ในปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่มีการยึดอำนาจ มีจำนวนหยุดอยู่ที่ 96 คำร้อง ปี 2558 มีเพียง 3 คำร้อง, ปี 2559 มี 3 คำร้อง และจนกระทั่งเรามีรัฐธรรมนูญปี 2560 จึงมีคำร้องเพิ่มมาเป็น 51 คำร้อง

“จำนวนสถิติคดีที่เปลี่ยนไป สัมพันธ์กับการยึดอำนาจในปี 2557 สัมพันธ์กับการปกครองของ คสช. ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เพราะประชาชนจะเสนอหรือร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญทำไมในเมื่อรู้ว่าคำสั่ง คสช. ถูกเสมอ ซึ่งสภาพศาลรัฐธรรมนูญแบบนี้ จึงไม่ได้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ และจะตรวจสอบคณะรัฐประหาร อย่าง คสช. ก็ทำไม่ได้ เพราะติดรัฐธรรมนูญ ม.57 รับรองไว้หมด ซึ่งนี่เป็นปัญหาที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญทำงานไม่ได้ ทั้งนี้ มีคำกล่าวว่า เมื่อมีการรัฐประหารเสียงปืนดังขึ้น กฎหมายจะเงียบลง แต่วันนี้ ปี 2562 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรปี 2560 แล้ว มีการเลือกตั้งแล้ว มีรัฐบาลใหม่แล้ว วันนี้ เสียงปืนสงบลงแล้ว จะถึงเวลาที่กฎหมายกลับมาดังขึ้นเหมือนเดิมได้หรือไม่ วันนี้ มีประกาศ คสช.จำนวนมากเทียบเท่า พ.ร.บ. ซึ่งมีเนื้อหาหลายอย่างขัดกับรัฐธรรมนูญ เรื่องเหล่านี้ มีโอกาสที่จะมีการยื่นเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ แม้ใน ม.279 จะระบุว่า อะไรที่ชอบด้วย ม.57 ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญต่อไป รับรองความชอบไว้หมดแล้ว อย่างไรก็ตาม ผม และ ส.ส. เราจะหาทางช่วยศาลรัฐธรรมนูญ ให้ท่านตรวจอบเรื่องเหล่านี้ได้ จะช่วยยกเลิก ม.279 ให้ได้ เพื่อให้ท่านได้ตรวจคำสั่ง คสช.ที่ขัดรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจะได้ทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง” นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ 2 ผลการดำเนินงานวิจัยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามรายงานนี้มี 2 งานใหญ่ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ศึกษาเรื่องการละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญเทียบไทยกับต่างประเทศ ที่มีการศึกษาเรื่องนี้ เพราะคิดว่าควรมีกฎหมายละเมิดศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ไม่มากก็น้อย ก็มีการเขียนเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ไว้ว่า สามารถทำได้ ใน มาตรา 38 วรรค 3 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุว่า การวิจารณ์สามารถทำได้ แต่ต้องไม่สุจริต หยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย ซึ่งคำนี้เหมือนจะดี แต่เมื่อพิจารณาแล้วพบว่ากว้างเกินไป ถ้าเกิดว่ามีการวิจารณ์แล้วไม่เข้าเรื่องนี้จะเป็นการละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งที่คำว่า ละเมิดอำนาจศาลนั้่น ทางสากลคือการขัดขวางระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ต่อหน้าบังลังก์ ไม่เกี่ยวกับเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์แต่อย่างใด ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์นั้นต่อให้ไม่สุจริต หยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย โดยตัวมันเองก็ไม่ผิดอยู่แล้ว จะหมิ่นศาลท่านใดก็ดำเนินคดีด้วยตัวท่านเอง แต่จาก มาตรา 38 วรรค 3 กลายเป็นว่าการวิพากษ์วิจารณ์อาจเป็นการละเมิดศาลรัฐธรรมนูญได้ ถ้าไม่เข้าข่ายตามที่ระบุไว้

“ศาลรัฐธรรนูญเป็นองค์กรวินิฉัยรัฐธรรมนูญ ซึ่งผลคำวินิจฉัยเกี่ยวพันธ์กับทุกองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญ ดังนั้น การถ่วงดุลองค์กรนี้ทางเดียวนั่นก็คือ การวิพากษ์วิจารณ์ นี่คือช่องทางเดียวให้การทำงานของศาลรัฐธรรมนูญมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม มาตรา 38 วรรค 3 ที่เกินไปนั้น ทำให้บุคคลทั้งหลาย เมื่อไม่แน่ใจเรื่องนี้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง ไม่กล้าใช้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้น ผมอยากให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนุญ และตัวศาลรัฐธรรมนูญเอง อดทนอดกลั้นต่อคำวิพาษ์วิจารณ์ ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของท่านได้ เราเป็นคนธรรมดา ไม่มีอาวุธ ไม่อาจฉีกรัฐธรรมนูญได้ เรามีแค่เพียงสมอง มีแค่เพียงปาก มีแค่เพียงปากกา ที่จะวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งคำวิพากษ์วิจารณ์นี้เองที่จะเป็นเกาะคุ้มกันให้ท่าน ตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของท่าน ผมยืนยันว่าศาลรัฐธรรมนูญมีความสำคัญ เป็นองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญ พิทักษ์หลักนิติรัฐ รวมถึงคุ้มครองสิทธิ์ของบุคคล แต่อย่างไรก็เป็นองค์กรหนึ่ง การใช้อำนาจต้องเป็นไปเพื่อประชาธิปไตย ต้องสนับสนุนประชาธิปไตยไม่ใช่ขัดขวาง ผมอยากเห็นศาลรัฐธรรมนูญไทยทัดเทียมนานาชาติ เป็นเสาหลัก ได้รับความนับถือเชื่อมั่นศรัทธาจากประชาชน และเป็นองค์กรสำคัญในการประคับประคองบ้านเมืองในช่วงนี้”