“ปลิงทะเลเกาะยาว”จ.พังงาสินค้าจีไอน้องใหม่

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ขึ้นทะเบียนจีไอ “ปลิงทะเลเกาะยาว” สัตว์น้ำเศรษฐกิจจังหวัดพังงา คาดสร้างรายได้ให้ผู้เลี้ยงเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันกว่าปีละ 3.3 ล้านบาท

  • กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศขึ้นทะเบียนแล้ว
  • จีไอรายการที่ 4 ของพังงาต่อจากทุเรียนสาลิกา-ข้าวไร่ดอกข่า
  • ดันมูลค่าเพิ่มได้อีกจากปัจจุบันผู้เลี้ยงมีรายได้ 3.3 ล้านบาท

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เผยว่า กรมได้ประกาศ ขึ้นทะเบียน “ปลิงทะเลเกาะยาว” เป็นสินค้าสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ลำดับ 4 ของจังหวัดพังงาต่อจากทุเรียนสาลิกาพังงา ข้าวไร่ดอกข่าพังงา และมังคุดทิพย์พังงา ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไปก่อนหน้านี้ :ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าได้รับการคุ้มครอง ใครจะละเมิดไม่ได้ และยังช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้า สร้างรายได้ให้ชุมชนผู้ผลิตอย่างยั่งยืน


สำหรับ“ปลิงทะเลเกาะยาว” เพาะเลี้ยงในบ่อดินเลนปนทราย มีการทำประตูน้ำหรือต่อท่อน้ำให้น้ำทะเลไหลเข้าออกหมุนเวียนในบ่อได้ พื้นที่เพาะเลี้ยงครอบคลุมอำเภอเกาะยาว ในอ่าวพังงา ซึ่งเป็นอ่าวกึ่งปิด เพราะถูกล้อมรอบด้วยแผ่นดิน มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีแนวหญ้าทะเล และแนวปะการังกระจายอยู่ทั่ว ที่มีความหลากหลายของแพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ สาหร่าย และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอื่นๆ จึงเป็นแหล่งอาศัยที่เหมาะสมและเป็นแหล่งอาหารคุณภาพดี


ประกอบกับ การเลี้ยงปลิงทะเลรวมกับสัตว์น้ำเศรษฐกิจอื่นๆ ทำให้ปลิงทะเลดูดกินอาหารจากหน้าดินในบ่อ รวมถึงอาหารและของเสียจากการเลี้ยงสัตว์น้ำ นอกจากนี้ ปลิงทะเลที่เลี้ยงในบ่อจะอาศัยบริเวณก้นบ่อ ไม่เคลื่อนไหวร่างกายมากเท่ากับปลิงที่อยู่ในทะเล จึงไม่เกิดภาวะเครียดที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ทำให้ปลิงทะเลเกาะยาวมีขนาดตัวใหญ่ เนื้อแน่น และตัวหนากว่าปลิงทะเลที่เลี้ยงด้วยวิธีอื่นๆ หรือจากแหล่งผลิตอื่น


“ปลิงทะเลเกาะยาว ถือเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ สร้างชื่อเสียงให้จังหวัดพังงา ที่นำมาใช้ประโยชน์เพื่อการบริโภคและเป็นวัตถุดิบในการผลิตยาและอาหารเสริม มีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เป็นที่ต้องการของหลายประเทศทั้งแบบสดและแบบแห้ง ปัจจุบัน สร้างรายได้ให้กับผู้เลี้ยงได้กว่า 3.3 ล้านบาทต่อปี และคาดว่า จะเพิ่มขึ้นอีกหลังจากได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าจีไอแล้ว”


ทั้งนี้ ปัจจุบัน ไทยมีสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจีไอจากกรม ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด ทำให้สินค้าท้องถิ่นได้รับการยกระดับมูลค่าสร้างรายได้สู่ชุมชน และสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากของไทยอย่างยั่งยืน