“ปตท.สผ.” มีแผนปรับพอร์ตเพิ่มรายได้จากก๊าซธรรมชาติ รับทิศทางการเปลี่ยนแปลงพลังงานของโลก

  • จากสัดส่วนเดิมที่ 70% เป็น 80% ในอนาคคต
  • ลั่นมีกลยุทธ์ซื้อกิจการ (M&A) เป็นโอกาสในช่วงโควิด-19
  • เน้นทำเลพื้นที่ เมียนมา-มาเลเซีย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์-โอมาน
  • พร้อมลุ้นรัฐบาลเมียนมา เห็นชอบโครงการ Gas to Power

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายจะปรับสัดส่วนรายได้ของธุรกิจบริษัทให้มีสัดส่วนระหว่างก๊าซธรรมชาติ : น้ำมัน เป็น 80:20 ในระยะยาว จากปัจจุบันมีสัดส่วนที่ 70:30 ซึ่งจะเป็นไปตามทิศทางของความต้องการเชื้อเพลิงของตลาดโลก และจากภาวะเศรษฐกิจโลกและน้ำมันที่ผันผวนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19  คาดว่า จะมีบริษัทด้านปิโตรเลียมในต่างประเทศมีการขายกิจการ ทางบริษัทก็มองหาลู่ทางว่า จะมีการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ในโครงการที่เหมาะสม เพื่อขยายการลงทุน โดยจะอยู่ในพื้นที่เป้าหมายของบริษัท ได้แก่ ไทย, เมียนมา, มาเลเซีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และโอมาน ขณะที่การดำเนินการของช่วงปีนี้ก็จะเน้นไปเรื่องการลงทุนในโครงการบงกชและเอราวัณ รวมทั้งโครงการในมาเลเซีย 

“ปตท.สผ.มีสัญญาซื้อขายก๊าซระยะยาวรองรับ มีสูตรราคาชัดเจน โครงสร้างการลงทุนต่ำแข่งขันได้ โดยขณะนี้มีก๊าซฯ ในพอร์ต 70% ต่อน้ำมัน 30% เป้าหมายจะขึ้นไปเป็นสัดส่วน 80%:20% ในอนาคต ด้านการเงินมีวินัยการเงินสูงไม่ประมาทมีการบริหารความเสี่ยงน้ำมันที่เหมาะสม ยืดหยุ่นตามสถานการณ์  ซึ่งการประกันความเสี่ยงส่วนหนึ่งในการบริหารตุ้นทุนไม่ใช่การเก็งกำไร โดยปีนี้คาดว่าจะทำประกันความเสี่ยงเพียง 40% เท่านั้น จากปีที่แล้ว 80% เพราะราคาน้ำมันผันผวนหนัก ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกต่ำสุดปีนี้เห็นแล้วที่ 19 เหรียญ/บาร์เรล ตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 40 เหรียญ/บาร์เรล การซื้อประกันสูงอาจมีความเสี่ยง” นายพงศธร กล่าว

ทั้งนี้สำหรับการดำเนินการของ ปตท.สผ.ในช่วงที่ราคาน้ำมันผันผวนนั้น ยอมรับว่ามีผลต่อผลการดำเนินการที่คาดว่าจะทำให้รายได้ปีนี้ลดลง 7-10% จากเป้าหมายเดิม อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาบริษัทมีต้นทุนดำเนินการต่ำ โดยต้นทุนต่อหน่วย (unit cost) อยู่ที่  31.71 เหรียญสหรัฐฯ ต้นทุนที่เป็นเงินสด (cash cost) อยู่ที่ประมาณ 15 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ประกอบกับมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง เชื่อว่าผลประกอบการปีนี้น่าจะพอบริหารจัดการได้ หากราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับต่ำอย่างยาวนาน ทั้งนี้บริษัทอาจจะชะลอ หรืองดการลงทุนในโครงการใหม่ ๆ ซึ่งอาจจะกระทบต่อปริมาณสำรองปิโตรเลียมของบริษัทในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ในส่วนโครงการต่อยอดธุรกิจในเมียนมาที่ได้ร่วมมือกับกลุ่ม ปตท. โดยใช้ก๊าซฯ ไปผลิตไฟฟ้า (Gas to Power) ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติจากรัฐบาลเมียนมา ซึ่งทางกระทรวงพลังงานของเมียนมา เตรียมเสนอขออนุมัติจาก ครม. โดยโครงการนี้มีกำลังผลิตไฟฟ้า 300 เมกะวัตต์