“บีโอไอ”คุยลั่นทุ่งปี2563ยอดขอรับลงทุนกระหึ่ม

  • รวม1,717โครงการ มูลค่า4.8แสนล้านบาท
  • กลุ่มเอส-เคิร์ฟยอดฮิตแห่ลงทุน2.3แสนล้านบาท
  • แจงโควิด-19เป็นท้ังโอกาสและความท้ายทายของไทย

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บอร์ดบีโอไอ) ได้รับทราบว่าการลงทุนของประเทศไทยเมื่อปี ที่ผ่านมา มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 1,717 โครงการ มูลค่ารวม 481,150 ล้านบาท แม้ว่าลดลงจากปี 2562 ที่มีการลงทุนรวม 690,000 ล้านบาท หรือลดลง7% เนื่องจากปี2562 นั้นมีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเข้าไปรวมด้วย ซึ่งมีเงินลงทุนหลักแสนล้าน ทำให้ตัวเลขลงทุนก้าวกระโดด แต่ในส่วนของปริมาณคำขอส่งเสริมการลงทุน สูงกว่าปี 2562 จากที่มี 1,523 โครงการ เพิ่มขึ้นเป็น 1,717 โครงการ ทำให้ปีท่ีผ่านมา ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ดีท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ผันผวน และปัจจัยผลกระทบอื่น ๆ โดยเฉพาะผลกระทบจากโควิด-19

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย(เอส-เคิร์ฟ) ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มีมูลค่าลงทุน 230,740 ล้านบาท คิดเป็น 48% ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมโดย 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าลงทุน 50,300 ล้านบาท 2.การเกษตร และแปรรูปอาหาร 41,140 ล้านบาท 3.ยานยนต์ และชิ้นส่วน 37,780 ล้านบาท 4.ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ 36,020 ล้านบาท และ 5.เทคโนโลยีชีวภาพ 30,060 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์เป็นกลุ่มที่น่าจับตามองมากที่สุด เนื่องจากมีคำขอรับการส่งเสริมเพิ่มขึ้นตลอดปี ทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าลงทุน โดยมี83 โครงการ เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่ 177% ขณะที่มูลค่าลงทุน22,290 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 165%

ขณะที่ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริม 907 โครงการ มูลค่าลงทุน 213,162 ล้านบาท ประเทศญี่ปุ่นยื่นขอรับการส่งเสริมมากที่สุด ทั้งจำนวนโครงการ และมูลค่าลงทุน 211 โครงการ มูลค่าลงทุน 75,946 ล้านบาท ตามด้วยประเทศจีน มูลค่าลงทุน 31,465 ล้านบาท และสหรัฐฯ มูลค่าลงทุน 24,555 ล้านบาท

“โควิด-19 เป็นทั้งความท้าทายและโอกาส แม้ในภาพรวมการลงทุนจะชะลอตัว แต่ก็มีบางธุรกิจที่สามารถขยายตัวจากวิกฤตครั้งนี้ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ซึ่งคำขอรับการส่งเสริมตลอดปี มีอัตราเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าลงทุน ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนในช่วงปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จ สอดรับกับความต้องการของตลาด”

ขณะเดียวกัน ในประเด็นทิศทาง การส่งเสริมการลงทุนในปี นี้ บีโอไอมีแนวทางส่งเสริมในกิจการที่ประเทศไทยมีศักยภาพ มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต พร้อมกับยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน ของประเทศ และขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างข องภาคการผลิตและบริการ เช่น อุตสาหกรรมในกลุ่มบีซีจี (เศรษกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว) ที่ในอนาคตอาจจะมีการเพิ่มสาขาโครงการที่เข้าข่าย และเปิดให้ขอรับส่งเสริมได้เพิ่มเติมอีก ขณะเดียวกัน ก็ต้องส่งเสริมในกลุ่มอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องทั้งการแพทย์ อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ดิจิทัล บริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัว ของอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ

“ที่ประชุม ยังได้มีมติอนุมัติมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้บริษัท ที่ได้รับการส่งเสริมจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หรือ ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการไทย รวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งของตลาดทุนและระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 100% ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) “

ท้ังนี้ โครงการลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอไปแล้ว แม้จะมีรายได้แล้วก็ตาม สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการนี้ได้ แต่จะต้องมีสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลืออยู่ทั้งระยะเวลาและวงเงินที่ได้รับยกเว้น โดยมาตรการนี้ไม่รวมถึงบริษัทที่จดทะเบียนในตลาด SET หรือ mai อยู่แล้ว ก่อนวันที่มาตรการนี้มีผลใช้บังคับ โดยสามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ภายในวันทำการสุดท้ายของปี 2565

#TheJournalistClub #โควิด19#JNC #บีโอไอ