บริษัทญี่ปุ่นชะลอจ้างงาน-ลงทุนในไทย

  • หลังธุรกิจซมพิษโควิด-19ทำยอดขายลดฮวบ
  • สูญเสียโอกาสทางธุรกิจ-หาวัตถุดิบผลิตสินค้ายาก
  • ยอมรับปิดห้าง-สถานที่ต่างๆ กระทบร้านอาหารหนัก

นายอัทสึชิ ทาเคทานิ  ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9-13 มี.ค.63 เจโทร ได้ร่วมกับหอกาค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ สำรวจความคิดเห็นบริษัทญี่ปุ่น ที่ลงทุนในไทย และเป็นสมาชิกหอการค้าญี่ปุ่น  จำนวน 1,764 บริษัท ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นแบบเร่งด่วนเกี่ยวกับผลกระทบของโรคไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มีบริษัทตอบกลับมาทั้งสิ้น 552 บริษัท โดยพบว่า บริษัทส่วนใหญ่ หรือมากถึง 48% ระบุว่า การระบาดครั้งนี้ มีผลกระทบเชิงลบต่อบริษัท ส่วนอีก 32% ระบุมีผลกระทบอย่างมากต่อยอดขาย ทำให้ยอดขายหายไปตั้งแต่ 5% ขึ้นไป ส่วนอีก 10% ระบุขณะนี้ยังไม่ทราบผลกระทบ อีก 8% บอกไม่มีผลกระทบ และ 2% บอกมีผลกระทบในเชิงบวก โดยผลกระทบในเชิงลบดังกล่าว เกิดขึ้นกับทั้งภาคอุตสาหกรรมการผลิต และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาคการผลิต

  สำหรับผลกระทบในเชิงลบ  ที่พบมากที่สุด คือ ยอดขายลดลงจากการชะลอตัวของการบริโภค และการท่องเที่ยวในไทย ตามด้วยการสุญเสียโอกาสทางธุรกิจ เพราะการยกเลิกนัดหมายกับบริษัทต่างๆ และยกเลิกการเดินทางไปเจรจาธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ, อุปสรรคต่อการปฏิบัติงานเนื่องจากมาตรการต่างๆ เช่น กำหนดให้ผู้เดินทางกลับมาจากญี่ปุ่น หรือเดินทางเข้าญี่ปุนต้องกักตัว 14 วัน, ยอดขายลดลงจากการชะลอคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ, ความยากลำบากและความล่าช้าในการจัดหาวัตถุดิบมาผลิต เช่น จากจีน เป็นต้น

  “บริษัทญี่ปุ่นในไทย เกือบครึ่งที่ตอบแบบสอบถาม หรือ 49% บอกว่า ขณะนี้ได้รับผลกระทบแล้ว และมีแนวโน้มว่าจะยังได้รับผลกระทบต่อเนื่อง และกระทบมากขึ้น เพราะยอดขายลดลงจากการชะลอตัวของการบริโภคและการท่องเที่ยวในไทย ทำให้ความต้องการใช้สินค้าลดลง ไม่มีอารมณ์จับจ่ายใช้สอย ขณะเดียวกัน แนวโน้มผู้ใช้บริการต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับร้านอาหาร และเครื่องดื่มลดลงมาก จากมาตรการของรัฐที่ให้ปิดห้าง และสถานที่ต่างๆ ส่งผลให้บริษัทญี่ปุ่นในไทย พิจารณาชะลอการลงทุนในด้านแรงงานและเครื่องจักร รวมถึงตัดค่าใช้จ่ายขนานใหญ่ เพื่อรับมือกับผลกระทบที่มีต่อกำไร-ขาดทุนของกิจการ”

  อย่างไรก็ตาม บริษัทญี่ปุ่นในไทยมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย เช่น ให้ข้อมูลที่รวดเร็ว และถูกต้องเกี่ยวกับการแพร่ระบาด และมาตรการับมือ, กระจายสินค้าที่จำเป็น เช่น หน้ากากอนามัย น้ำยาฆ่าเชื้อในตลาดอย่างเพียงพอ, มีมาตรการเชิงเศรษฐกิจมหภาค เพื่อแก้ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจ เช่น เพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ, มาตรการทางภาษีและการให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับแต่ละบริษัท เป็นต้น