น้ำท่วมทำเศรษฐกิจเสียหาย 1-2 หมื่นล้านบาท

.ส่วนกินเจปีนี้สุดหงอยเงินสะพัด 4 หมื่นล้านบาท

.เร่งรัฐเปิดประเทศ-เติมเงินคนละครง-ฟื้นช้อปดีมีคืน

.หาเงินอุดรูรั่วเศรษฐกิจหวังดันจีดีพีปีนี้โต 1% ปีหน้า 5%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงการประเมินสถานการณ์น้ำท่วม ที่สำรวจจากหอการค้าจังหวัดในพื้นที่น้ำท่วมภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวม 138 ราย  เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า  คาดจะเกิดความเสียหาย 10,000-20,000 ล้านบาท หรือใกล้เคียง 15,000 ล้านบาท ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดลง 0.1-0.2%  โดยความเสียหาย แบ่งเป็น บ้านเรือน 1,320.30 ล้านบาท, สิ่งสาธารณะ (ถนน ท่อระบายน้ำ ฝาย สะพาน วัด โรงเรียน) 4,972.20 ล้านบาท, พืชเกษตร 6,349.51 ล้านบาท, ปศุสัตว์ 753.90 ล่านบาท, การค้า 1,316.10 ล้านบาท และอื่นๆ 324 ล้านบาท 

“ความรุนแรงของน้ำท่วมครั้งนี้ ไม่เท่ากับปี 54  ที่ครั้งนั้นศูนย์ฯคาดการณ์ความเสียหาย 1.4 ล้านล้านบาท เพราะน้ำท่วมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ที่มีโรงงานผลิตสินค้าส่งออกจำนวน กระทบต่อการผลิต และการส่งออก แต่ครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตร และบ้านเรือน ที่แม้ได้รับผลกระทบมาก แต่มูลค่าเสียหายไม่มากนัก ที่สำคัญ ผู้ตอบส่วนใหญ่บอกว่า ระยะเวลาการท่วมจะอยู่เพียง 8-14 วัน หรือเฉลี่ย 9 วัน ไม่ได้ท่วมขังนานหลายเดือนเหมือนปี 54” 

ส่วนผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายช่วงเทศกาลกินเจปี 64 ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,208 ตัวอย่างทั่วประเทศ วันที่ 26-29 ก.ย.694 พบว่า คาดจะมีมูลค่าใช้จ่าย 40,147 ล้านบาท ติดลบ 14.5% จากปี 63 ที่มีมูลค่าใช้จ่าย 46,967 ล้านบาท นับเป็นอัตราการติดลบครั้งแรกในรอบ 14 ปีตั้งแต่สำรวจครั้งแรกเมื่อปี 51 เพราะภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ตกงาน รายได้ลดลง, ค่าครองชีพสูง-สินค้าราคาแพง และการแพร่ระบาดของโควิด-19

ขณะเดียวกัน เมื่อสอบถามถึงผลกระทบจากโควิด-19 ประชาชนส่วนใหญ่ตอบได้รับผลกระทบทางลบมาก เพราะรายได้ลดลง, หนี้สินเพิ่ม, ค่าครองชีพทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าน้ำ-ไฟฟ้า ค่าอินเตอร์เน็ตแพงขึ้น, หางานทำยาก และไม่ได้รับเงินจากภาครัฐ จึงต้องการให้รัฐคลายล็อกดาวน์ และเปิดประเทศ เพื่อสร้างรายได้ ฟื้นเศรษฐกิจ แม้ยังกลัวกับการระบาดระลอกใหม่ ไวรัสสายพันธุ์กลายพันธุ์ใหม่ๆ และยังฉีดวัคซีนไม่ครบ  

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมที่ทำให้เงินหายไปจากระบบ 10,000-20,000 ล้านบาท ทำให้ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ รัฐต้องเปิดเมืองรับนักเที่ยวต่างชาติ โดยหากมีต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยเดือนละ 100,000 คน และแต่ละคนใช้จ่าย 50,000 บาท/ทริป จะมีเงินเข้ามาเติมในระบบเดือนละ 10,000-20,000 ล้านบาท เท่ากับความเสียหายจากน้ำท่วม แต่ถ้ารัฐไม่เปิดเมือง เม็ดเงินส่วนนี้จะหายไปเลย และฉุดให้จีดีพีลดลง  

นอกจากนี้ รัฐต้องเติมเงินเข้าไปในโครงการคนละครึ่งเพิ่มอีก 1,500 บาทจากเดิม 1,500 บาท ซึ่งจะทำให้มีเงินเข้ามาหมุนในระบบได้อีกกว่า 90,000 ล้านบาท รวมกับเงินของประชาชนอีก 90,000 บาท ทำให้เศรษฐกิจหมุนได้อีก 2-3 รอบ รวมถึงต้องฟื้นโครงการช้อปดีมีคืน เพราะจะทำให้คนมีเงินเอาเงินของตัวเองมาใช้จ่าย เพื่อรับสิทธิลดหย่อนภาษี เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจปีนี้โตได้ไม่ต่ำกว่า 1% แต่รัฐยังจำเป็นต้องใช้มาตรการการคลังต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงตรุษจีน เพื่อเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจปีหน้าโตได้ไม่น้อยกว่า 5% 

“ปีนี้เศรษฐกิจไทยโตได้แน่ 1% แต่ปีหน้าต้องทำให้โตมากกว่า 5% หรือ 6-8% ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ ถ้ารัฐสร้างความเชื่อมั่น ทำให้ท่องเที่ยวกลับมา, ประคองค่าเงินบาทให้ทรงตัวอ่อน สร้างแต้มต่อให้กับการส่งออก เพื่อให้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ, เร่งฉีดวัคซีนให้ครบโดส และเข็มกระตุ้น และคุมการแพร่ระบาด, รัฐเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เร่งจ้างงาน ซื้อวัตถุดิบในประเทศ, ดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศ, เร่งดึงต่างประเทศเข้ามาทำงานในไทยและเที่ยวไทย เป็นต้น”