นักวิชาการสุดช็อค! เศรษฐกิจไทยโต 1.8%

ยอมรับว่าตกใจกับตัวเลขดังกล่าว เพราะเป็นการขยายตัวที่ต่ำมากเพียง 1.8% จากคาดการณ์ที่ 2.6% ทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจมีความเปราะบางมาก

  • ขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพมากและหลุดเป้าหมาย 2%
  • ชี้เหตุบริโภค-ลงทุนภาครัฐ และส่งออก-บริการพลาดเป้า
  • จี้รัฐทำนโยบายคลัง-การเงินให้สอดคล้องกันและกระตุ้นด่วน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงการคลังคาดเศรษฐกิจไทยปี 66 ขยายตัว 1.8% ว่า ยอมรับว่าตกใจกับตัวเลขดังกล่าว เพราะเป็นการขยายตัวที่ต่ำมากเพียง 1.8% จากคาดการณ์ที่ 2.6% ทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจมีความเปราะบางมาก แต่ยังไม่ถึงวิกฤติ และมีความห่วงใยถึงการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม หากดูรายละเอียด จะพบว่า ปรับตัวดีขึ้นแทบทั้งหมดเมื่อเทียบการประมาณการเดือนม.ค.67 กับเดือนต.ค.66 โดยเฉพาะการใช้จ่ายของประชาชนที่มากขึ้น แต่การใช้จ่ายอาจปรับเปลี่ยนจากออนไซต์ไปออนไลน์ เพราะเห็นความคึกคักของการใช้จ่ายผ่านออนไลน์ ดีลิเวอรี่ จึงทำให้ผู้ค้าต่างๆ และเอสเอ็มอี ไม่รู้สึกว่ามียอดขายเพิ่มขึ้น กำไรเพิ่มขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลลดลง และได้ดุล

สำหรับจุดพลาดของเศรษฐกิจไทยปี 66 น่าจะมาจาก 2 ส่วนหลักคือ 1.การบริโภคและการลงทุนภาครัฐ ที่งบประมาณออกล่าช้า และเบิกจ่ายล่าช้า งบประมาณแผ่นดินในไตรมาส 4 ไม่ถูกขับเคลื่อน การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐติดขัด หรือไม่ได้ดำเนินการ ทั้งๆ ที่มีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มบริหารประเทศแล้ว ทำให้เห็นว่า นโยบายการคลังไม่ตรงตามเป้าหมาย ส่งผลให้เศรษฐกิจขาดแรง เกิดภาวะช็อต และ2.การส่งออกและบริการที่ลดลง ทำให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมมีกำลังการผลิตลดลง แม้ภาคบริการอย่างท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยตามเป้าหมายที่ 28 ล้านคน แต่บริการอื่นๆ รัฐต้องมาดูว่า เกิดอะไรขึ้น หรือธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยกู้

“เป็นครั้งแรกที่ตกใจกับตัวเลขเศรษฐกิจของไทยที่โตเพียง 1.8% หลุดเป้าหมายไปมาก ทั้งๆ ที่หลายหน่วยงาน ทั้งแบงก์ชาติ กระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ธนาคารโลก ต่างคาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 66 จะโตเกิน 2% ทำให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพมาก มีปัญหา และจำเป็นต้องการแรงกระตุ้นด่วน เพื่อไม่ให้ซึมมากไปกว่านี้”

นายธวรรธน์ กล่าวต่อว่า มองว่า แนวทางที่จะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ คือ การมีนโยบายการคลังที่ดี และใช้นโยบายการเงินเสริม พร้อมมีมาตรการกระตุ้น โดยการใช้นโยบายที่สอดคล้องกัน จะช่วยกระตุ้นได้เร็ว ซึ่งขณะนี้ก็กำลังดูว่า การมีงบประมาณปี 67 แบบขาดดุลเพิ่มเป็น 700,000 ล้านบาท จากงบปี 66 ที่ขาดดุล 600,000 ล้านบาท และคาดจะเริ่มเบิกจ่ายได้ช่วงกลางปีนี้ จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด ขณะที่นโยบายด้านการเงินนั้น แบงก์ชาติก็จะต้องพิจารณาผ่อนคลาย เพื่อให้มีเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบ และลดต้นทุนด้านสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ พร้อมเสริมสินเชื่อใหม่ๆ โดยผ่านธนาคารของรัฐ

“หากดูการเติบโตปี 67 ที่คาดว่าจะโตเพียง 2.8% ตามที่กระทรวงการคลังคาดไว้ ยังเป็นตัวเลขที่ต่ำ หากนโยบายการคลังและการเงินสอดคล้องกัน มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตเกิน 3% และทั้งปีโต เกิน 3% ได้ และหากมีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็จะโตเกิน 3.2% แต่สิ่งที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการควบคู่กันไป คือ มีโครงการลงทุนใหม่ๆ พร้อมมาตรการเติมสินเชื่อให้เอสเอ็มอี อย่างไรก็ตาม ศูนย์ฯยังไม่ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 67 ที่คาดโต 2.5% ต้องรอดูตัวเลขส่งออกของเดือนธ.ค.66 และทั้งปี 66 ก่อน”