ธ.ก.ส.อัดงบ 480,000 ล้านช่วยอุ้มภาคเกษตร

  • หวังเงินหมุนเวียนในระบบ1.2ล้านล้าน
  • จ่ายเงินประกันพืชเศรษฐกิจ 5 ชนิดแล้ว 34,600 ล้าน
  • คาดปีนี้มีกำไรตามเป้า 9,800 ล้านบาท

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่าธ.ก.ส.ได้ดำเนินโครงการตามนโยบายของธ.ก.ส.ตามแผนงานประจำปี 2563 (1 เม.ย. 2562 – 31 มี.ค.2563) และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร มูลค่ารวมกว่า 480,000 ล้านบาท  โดยในส่วนโครงการตามนโยบายของธ.ก.ส.จัดเตรียมเงินไว้ 400,000 ล้านบาท เพื่อนำมาปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าทั้งกลุ่มสถาบันเกษตรกรซึ่งมีมากกว่า 50% กลุ่มเกษตรกร รวมถึงวิสาหกิจชุมชน 50% โดยธ.ก.ส.ได้เตรียมช่วยเหลือเกษตรกรผ่านนโยบาย Go Green ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ที่มีการส่งเสริมการผลิตอาหารปลอดภัยตามมาตรฐานการเกษตรที่ดี(GAP)และการทำเกษตรอินทรีย์ โดยปัจจุบันมีเกษตรกรที่ผ่านมาตรฐานแล้วจำนวน 4,837 ราย พื้นที่ 22,189 ไร่

“ส่วนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เตรียมงบประมาณไว้ 80,000 ล้านบาท โดยดำเนินการผ่านโครงการประกันรายได้พืชเศรษฐกิจหลัก 5 ชนิด คือ ข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพด คาดว่าเงินทั้ง 2 ส่วน มูลค่ารวม 480,000 ล้านบาท เมื่อลงสู่ระบบเศรษฐกิจแล้ว เชื่อว่าจะทำให้เกิดอัตราทวีคูณ 2.5 เท่า และทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านล้านบาท ส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2563”

ทั้งนี้ในโครงการประกันรายได้พืชเศรษฐกิจหลัก 5 ชนิด คือ ข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพด ธ.ก.ส.จ่ายเงินไปแล้วกว่า 34,600 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 วงเงิน 24,810 ล้าน โอนเงินแล้ว 23,929 ล้านบาท 2.โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2562-2563 วงเงิน 13,000 ล้านบาท โอนเงินแล้ว 1,351 ล้านบาท 3.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปี 2562/63 วงเงิน 20,940 ล้านบาท โอนเงินแล้ว 9,411 ล้านบาท และ 4.โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 วงเงิน 23,472 ล้านบาท จะเริ่มโอนเงินในวันที่ 1 พ.ย.นี้

ส่วนผลการดำเนินงานในบัญชี 2562 (1 เม.ย. 2562-31 ต.ค.62) ปัจจุบันธ.ก.ส.มีกำไรทั้งสิ้น 4,000 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมาซึ่งมีกำไรอยู่ที่ 4,456 ล้านบาทเนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตามคาดว่ารอบปีบัญชี 62 จะมีรายได้ใกล้เคียงกับปีที่แล้วจำนวน 9,800 ล้านบาท ส่วนปัจจุบันหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 4.3% ของสินเชื่อ