ธ.ก.ส. ตั้งเป้าปีนี้ ลดหนี้เสียต่ำกว่า5.5% ปล่อยสินเชื่อใหม่ 5 หมื่นล้าน

  • ปล่อยสินเชื่อเพิ่ม
  • นำดิจิทัลมาช่วย
  • ออกมาตรการแก้หนี้ใหม่

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด19 ในช่วง2-3ปีที่ผ่านมา กระทบความสามารถการชำระหนี้ของเกษตรกรลูกค้าธกส.จำนวนมาก ส่งผลให้อัตราหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ของธ.ก.ส.ทยอยเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 12% ของสินเชื่อคงค้าง แต่ขณะนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และทำให้อัตราหนี้เสียของธ.ก.ส. ทยอยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 7.6%ของสินเชื่อคงค้าง และในปีบัญชีนี้ 2566/2567 ธ.ก.ส. ได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดอัตราหนี้เสียลงให้มาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 5.5%  

ส่วนแนวทางที่จะทำให้ระดับหนี้เสียลดลงนั้น ประกอบด้วย3 แนวทาง คือ 1.การปล่อยสินเชื่อให้เพิ่มขึ้น ซึ่งธนาคารตั้งเป้าหมายที่เพิ่มเป้าสินเชื่อใหม่ในปีบัญชีนี้อีก 50,000 ล้านบาท จะทำให้สินเชื่อปล่อยใหม่อยู่ที่ 85,000 ล้านบาท ซึ่งทุกๆวงเงินสินเชื่อที่ปล่อยเพิ่มได้ 10,000 ล้านบาท จะทำให้ระดับหนี้เสียของธนาคารลดลงประมาณ 0.5% โดยจะเน้นการเจาะกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ เพื่อเป็นหัวขบวนเกษตรกรในการสร้างเครือข่ายสินค้าเกษตรของเกษตรกรายย่อย เข้าสู่อุตสาหกรรมและตลาดจำหน่ายสินค้าเกษตร

2.การเข้าไปบริหารจัดการหนี้นั้น จะนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยบริหารจัดการต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เชื่อว่จะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายลงได้ เนื่องจากระบบเดิมมีต้นทุนสูง  และยังทำให้การแก้ไขปัญหาหนี้เสียมีความล่าช้าอีกด้วย เพราะลูกหนี้ส่วนใหญ่ของธ.ก.ส.เป็นเกษตรกรรายย่อย และ3. การออกมาตรการใหม่ๆ เพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาหนี้เสียอีกด้วย

นายฉัตรชัย กล่าวต่อว่า ในเร็วๆนี้ จะปล่อยสินเชื่อสำหรับเกษตรกรที่ทำคาร์บอนเครดิต และจะเป็นคนกลางในการรวมกลุ่มลูกค้าเกษตรกรทั้งหมด เพื่อให้สามารถนำคาร์บอนเครดิตออกมาจำหน่ายได้ ซึ่งจากการหารือเบื้องต้นกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถือว่ามีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการสร้างคาร์บอนเครดิตขึ้นมา ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมหรือสินเชื่อสีเขียว ตามแนวนโยบายของธ.ก.ส.เอง

สำหรับนโยบายการพักหนี้เกษตรกรของพรรคการเมืองต่างๆนั้น ต้องรอความชัดเจนในการกำหนดนโยบายรัฐบาลให้เรียบร้อยก่อน เมื่อนโยบายรัฐบาลชัดเจนแล้ว ธ.ก.ส. พร้อมดำเนินการตามนโยบาย ด้วยการนำมาพิจารณรายละเอียดเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการของธ.ก.ส. ซึ่งต้องคำนึงถึงผลกระทบต่องบดุลของธนาคาร และการดูแลสังคม ที่ต้องควบคู่กันไปอย่างเหมาะสม