“ธรรมนัส”สั่งยึดที่ดิน ส.ป.ก.6 พันไร่ จ.ชุมพร ทวงคืนนายทุนมอบ ให้เกษตรกร ยากจน

  • จ่อยึดเพิ่มอีก 20,000ไร่ ที่ จ.สุราษฎร์ธานี
  • พร้อมสำรวจทั่วประเทศที่มีปัญหา
  • ผนึกรัฐ-เอกชน-เกษตรกร เดินหน้านโยบายประชารัฐ

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ดำเนินการตามกฎหมายดำเนินการตามกฎหมายในการยึดที่ดิน ส.ป.ก.ใน จ.ชุมพร 6,000 กว่าไร่ ซึ่งเป็นสวนปาล์มของสหกรณ์ใน จ.ชุมพร และเตรียมยึดที่ดินอีกเกือบ 20,000 ไร่ ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นของบริษัท วิจิตรภัณฑ์สวนปาล์ม จำกัด โดยที่ จ.สุราษฎร์ธานี อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันในขั้นตอนของกฏหมาย และได้สั่งการให้ส.ป.ก.เช็คที่ดินของส.ป.ก.ทั่วประเทศด้วยว่ายังมีที่ดินส.ป.ก.อีกจำนวนเท่าไหร่ที่มีปัญหา และอยู่ในขั้นตอนไหน เพื่อจะช่วยขจัดปัญหา นำที่ดินจัดสรรให้กับเกษตรกรที่ยากจนอย่างแท้จริง

“การสำรวจพื้นที่ส.ป.ก. เพื่อยึดคืนแจกเกษตรกรที่ยากจน จะดำเนินการควบคู่ไปกับการแก้ไขกฏหมาย วัตถุประสงค์การใช้ที่ดินส.ป.ก.ให้สามารถดำเนินการในเรื่องของทำโฮมสเตย์ สถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพราะบางพื้นที่ของที่ดินส.ป.ก.ก็ไม่เหมาะประกอบอาชีพการเกษตร อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าไม่ใช่ให้นายทุนดำเนินการ แต่ให้เกษตรกรสามารถหารายได้จากที่ดินในแปลงนั้น”

ขณะเดียวกัน เตรียมมอบนโยบายการทำงานร่วมกันระหว่าง สำนักงาน ส.ป.ก. และกรมพัฒนาที่ดิน (พด.) เพื่อจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรประกอบอาชีพในรูปของเกษตรแปลงใหญ่ โดยการบริหารจัดการในรูปสหกรณ์ เป็นสหกรณ์ตำบล มีหมู่บ้านเป็นสมาชิก ถือหุ้นและจะมีการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างสมาชิก ภายใต้นโยบายตลาดนำการผลิต โดยประสานความร่วมมือกับเอกชนไทยในฐานะตัวแทนในการส่งออกสินค้าการเกษตรไปตลาดจีน เพื่อรับซื้อสินค้าเกษตรของไทย

“จะหารือกับเอกชนรายใหญ่ผู้ส่งสินค้าออกไปยังประเทศจีน เพื่อขอความร่วมมือในการรับซื้อผลผลิตด้านการเกษตร ผ่าน สหกรณ์ตำบล เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และจากการหารือกับเบื้องต้นคาดว่า กลุ่มผู้ซื้อสินค้าเพื่อส่งออกจีนกลุ่มนี้จะช่วยให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาที่สูง อาทิ ข้าว จะหารือกับ ซีพี เพื่อให้รับซื้อในราคา 20,000 บาท/กิโลกรัม จากราคารับประกันที่รัฐบาลประกาศไว้คือ 15,000 บาท/ก.ก. ซึ่งหากข้อตกลงเป็นไปด้วยดีรัฐบาลอาจไม่จำเป็นชดเชยราคาข้าวอย่างที่ประกาศไว้”

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า แนวคิดการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชนและเกษตรกร ถือเป็นนโยบายประชารัฐ ที่เป็นงานเร่งด่วนต้องเร่งดำเนินการ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ผลผลิตด้านการเกษตรตกต่ำที่กำลังประสบอยู่ ทั้ง ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทั้งหมดนี้ต้องเร่งดำเนินการเพราะหากไม่ทำอะไร มัวแต่จะให้รัฐบาลรับประกันราคา รัฐบาลจะเอาเงินมากจากไหน หากมาตรการประชารัฐ สามารถพยุงราคาสินค้าเกษตรได้ มาตรการที่รัฐบาลประกาศประกันราคาผลผลิตด้านการเกษตรอาจไม่ต้องใช้เงิน เพราะราคาสินค้าสูงกว่าราคาที่รัฐบาลประกันราคาไว้แล้ว”

นอกจากนี้ ในต้นเดือนก.ย.2562 จะเอ็มโอยูกับ 6 บริษัทผู้ส่งออก โดยนำร่องสินค้าไก่ ได้แก่ บริษัท จีเอฟพีที จำกัด(มหาชน) บริษัทซีพีเอฟ จำกัด (มหาชน) บริษัท สหฟาร์ม จำกัด(มหาชน) บริษัท โกลเด้น ไลน์ บิสซิเนสจำกัด(มหาชน) บริษัท เอฟ แอนด์ เอฟ กรุ๊ป จำกัด และ บริษัท ไทยฟู้ดส์กรุ๊ป จำกัด หลังจีนแสดงความต้องการนำเข้าชิ้นส่วนไก่จำนวนมาก