ธปท.ติดตาม 3 ปัจจัยเสี่ยงกระทบเศรษฐกิจ

  • การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
  • ตลาดแรงงานที่คนว่างงานยังสูงใกล้ชิด
  • เพื่อประเมินผลกระทบเศรษฐกิจไทยปีวัว

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึง 3 ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ว่า ปัจจัยแรกที่ต้องติดตามคือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งสถานการณ์ในขณะนี้มีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นจากในช่วงที่ ธปท.ประมาณการล่าสุด ช่วงวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ต้องติดตามการแพร่ระบาดว่าจะเป็นวงกว้างมากขึ้นหรือไม่ และสามารถที่จะควบคุมได้โดยในเวลานานเท่าไร รวมทั้งติดตามมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐบาลว่าจะใช้มาตรการที่เข้มข้นหรือไม่และมีผลต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในการประมาณการเศรษฐกิจปีหน้า ซึ่งธปท.คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตในระดับ 3.2% นั้นได้รวมผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ไว้ในระดับหนึ่งแล้ว แต่ก็ได้ให้ความเสี่ยงในด้านที่จะขยายตัวต่ำกว่าประมาณการไว้ด้วย เพราะในขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ในบ้านเรายังไม่จบ และจะดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่ง

ปัจจัยที่ 2 ที่ต้องติดตาม คือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจคู่ค้า โดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอกใหม่เช่นเดียวกัน โดยหากการขยายตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าของไทยได้รับผลกระทบย่อมจะกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยในระยะต่อไปด้วยเช่นกัน ขณะที่ปัจจัยที่ 3 ที่ยังน่าเป็นห่วงคือ ความเปราะบางของตลาดแรงงาน ซึ่งแม้ว่า ในภาพรวมเศรษฐกิจไทย และตลาดแรงงานในช่วงที่ผ่านมาจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น แต่ตัวเลขคนว่างงาน และผู้ขอรับสวิสดิการว่างงาน ในเดือน พ.ย.ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับก่อนโควิด-19 ยังไม่ลดลง ในขณะที่ตัวเลขผู้เปรียบเสมือนคนว่างงาน คือ ทำงานไม่เกิน 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในภาคเกษตร หรือไม่เกิน 24 ชั่วโมงนอกภาคการเกษตร ในเดือน พ.ย.ยังอยู่ที่ระดับสูงถึง 2.2 ล้านคน แม้ลดลงบ้างจากระดับ 2.5 ล้านคนในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา แต่ส่วนใหญ่เป็นการลดลงของแรงงานในภาคเกษตร ในขณะที่แรงงานนอกภาคเกษตรลดลงต่ำกว่า ซึ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ระลอกใหม่นี้จะต้องจับตาสถานการณ์ และผลกระทบต่อภาคแรงงานอย่างใกล้ชิด

“แม้การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จะเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 4 หรือช่วงปลายปีของปีนี้ แต่คงไม่มีผลในภาพรวมต่อเศรษฐกิจให้เปลี่ยนแปลงไปจากที่ประมาณการไว้ -6.6% มากนัก แต่จะต้องจับตาการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อที่ขณะนี้เพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าที่ ธปท.คาด รวมทั้งจับตาการใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และผลของมาตรการที่จะกระทบต่อการใช้จ่าย การลงทุน การเดินทางและรายได้ของภาคบริการของประเทศในระยะต่อไป เพื่อประเมินภาพเศรษฐกิจในปีหน้าอีกครั้ง เพราะสถานการณ์ตอนนี้เปลี่ยนแปลงเร็ว และมากกว่าที่ ธปท.ประมาณการไว้เดิม อย่างไรก็ตาม เห็นว่ารัฐบาลพยายามทำงานอย่างหนักทั้งในส่วนของการแพร่ระบาด และระวังผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งหากมองพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา เรามีความทนทาน ในขณะที่ตลาดแรงงานมีความยืดหยุ่นที่สามารถรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง และหากครั้งนี้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เร็ว ประชาชนให้ความร่วมมือที่ดี โดยไม่ต้องใช้มาตรการที่รุนแรง เชื่อว่าความทนทานที่เศรษฐกิจไทยมีจะทำให้เศรษฐกิจไทยผ่านโควิดระลอกใหม่ไปได้ โดยไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงเท่ากับล็อกดาวน์ครั้งแรกในต้นปีที่ผ่านมา”