ธนาคารออมสิน​ ปรับเกณฑ์ปล่อยสินเชื่อในภาวะวิกฤติ​ ช่วยประชาชนที่มีปัญหาสภาพคล่อง

  • ใช้ระบบหลักประกันในการวิเคราะห์สินเชื่อ
  • มั่นใจบริหารจัดการหนี้เสียให้อยู่ในเป้าหมายไม่เกิน4%

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด​ การพิจารณาสินเชื่อโดยการใช้การวิเคราะห์รายได้ของผู้ขอกู้​ คงไม่สามารถใช้ได้​ ไปอีก​ 1-2ปีข้างหน้า​ เพราะเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโควิด​ จำเป็นต้องหยุดชั่วคราว​ ย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้ของประชาชนและผู้ประกอบการ

ดังนั้นธนาคารจึงต้องหันมาใช้
ระบบหลักประกันในการวิเคราะห์สินเชื่อ​ ซึ่งในอดีตสถาบันการเงินก็เคยใช้​หลักประกันเป็นตัววิเคราะห์สินเชื่อ​ ก่อนที่จะหันมาใช้กระแสเงินสด

ทั้งนี้หากธนาคารไม่ปรับเกณฑ์การวิเคราะห์สินเชื่อ​ โดยหันมาใช้ระบบหลักประกัน​ ธนาคารคงไม่สามารถปล่อยสินเชื่อได้​ ซึ่งธนาคารไม่เดือดร้อน​ แต่คนที่เดือดร้อนคือประชาชน​ ซึ่งในที่สุดอาจกลายเป็นหนี้เสีย(NPL)​ของธนาคาร​ แต่ออมสินเชื่อมั่นว่าจะสามารถบริหารจัดการหนี้เสียให้อยู่ในเป้าหมายไม่เกิน4%ภายในปีนี้​ ขณะเดียวกัน​ เพื่อความมั่นคงของธนาคาร​ ก็จะเพิ่มเงินกันสำรองเพิ่มเติม​ เพื่อรองรับหนี้เสียที่อาจจะเกิดขึ้น​ แน่นอนธนาคารจะไม่ขาดทุน​ แต่กำไรย่อมลดต่ำลง​ แต่ธนาคารก็จะแข็งแรงมากขึ้น

“ธนาคารเริ่มใช้การวิเคราะห์สินเชื่อ​  โดยใช้ระบบหลักประกันในโครงการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์​ โดยมีรถยนต์เป็นหลักประกัน​ ซึ่งธนาคารกดอัตราดอกเบี้ยจำนำทะเบียนรถ​ ลงเหลือ​ 18%  จากอัตราดอกเบี้ยในตลาดจำนำทะเบียนรถยนตที่​ 24-28%  ถามว่าธนาคารขาดทุนหรือไม่​ ตอบว่า​ ไม่ขาดทุน​ เพราะแม้จะคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด​ แต่อัตราดดอกเบี้ย18%นี้​ ก็ถือว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงสุดในผลิตภัณฑสินเชื่อของธนาคาร”

นอกจากนี้​ ธนาคารยังปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีผ่านโครงการ​ มีที่มีเงิน​ โดยให้​เอสเอ็มอีสามารถนำที่ดิน​ มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ได้​ โดยคิดอัตราดอกเบี้ย​ 5.99% ซึ่งต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยขายฝากที่คิดดอกเบี้ย​ 15-30% 

” ที่ผ่านมีเอสเอ็มอีมาขอกู้โครงการนี้​ที่มีวงเงินสินเชื่อ​ 5, 000 ล้านบาท​ปรากฎว่าเพียงไม่กี่สัปดาห์วงเงินสินเชื่อนี้หมดลงอย่างรวดเร็ว​ ดังนั้นธนาคารจึงเพิ่มวงเงินสินเชื่อ​โครงการนี้อีก 5, 000 ล้านบาท​ เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องให้เอสเอ็มอี”

สำหรับโครงการมีที่มีเงิน​ ธนาคารให้สินเชื่อในสัดส่วน​ 70%ของราคาประเมินที่ดินของราชการ​ ขณะที่ธุรกิจขายฝากให้​ 50%

” การปล่อยสินเชื่อในสัดส่วน​ 70%ของราคาประเมิน​ แม้สินเชื่อนั้นกลายเป็นหนี้เสีย​ แต่ธนาคารก็ยังไม่ขาดทุน​  เพราะราคาประเมินอาจอยู่ที่100บา​ท​ ธนาคารให้สินเชื่อ​70บาท​  แต่ราคาที่ดินแปลงนั้นตามราคาตลาดอาจอยู่ที่​200บา​ท”