ทีมศบค.ไขข้อสงสัย วัคซีนที่ไทยใช้ป้องกันโควิดสายพันธุ์อินเดียได้หรือไม่

วันที่ 21 มิถุนายน 2564 ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และที่ปรึกษา ศบค. โพสต์เฟซบุ๊กกรณี วัคซีนที่ไทยใช้ ป้องกันโควิดสายพันธุ์ Delta ไม่ได้ จริงหรือไม่? ดังนี้

มีคนส่งข้อมูลมาให้ผมหลายคน เกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนที่เราใช้ คือ AstraZeneca และ Sinovac ต่อสายพันธุ์ Delta (อินเดีย) ซึ่งบอกว่า วัคซีนทั้งสองยี่ห้อนี้ ช่วยป้องกันสายพันธุ์อินเดียไม่ได้ ผมจึงลองรวบรวมข้อมูลดูครับ

ข้อมูลที่ผมรวบรวมมา มีดังนี้ครับ

1.ข้อมูลจากงานวิจัยหลายชิ้น ชี้ตรงกันกว่า วัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการป้องกันโควิดสายพันธุ์เดลต้า คือวัคซีน mRNA (ไฟเซอร์ / โมเดอร์นา) ซึ่งแม้จะลดประสิทธิภาพลงไปบ้าง แต่ก็ยังป้องกันได้ดีหลังจากฉีดสองเข็ม แต่ถ้าฉีดเข็มเดียว ก็น่าจะป้องกันไม่ได้มากเช่นกัน (33%)

2.แต่ผมจะไม่ใช้เวลากับการอธิบายรายละเอียดของ mRNA มาก เพราะในขณะนี้ไทยเรายังไม่มีใช้ ผมจึงจะลองให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัคซีนสองชนิดที่เราใช้ ต่อสายพันธุ์ Delta (ซึ่งมีผู้ป่วยด้วยสายพันธุ์นี้ในไทยจริง ข้อมูลที่มีคือมีประมาณ 10% แต่ทั้งหมดอยู่ในสถานพยาบาล และยังไม่มีข้อมูลว่ามีการแพร่ระบาดที่ควบคุมไม่ได้

3.เริ่มกันที่ AstraZeneca การวิจัยชี้ว่าหากฉีดเข็มเดียว ภูมิคุ้มกันอาจจะยังขึ้นไม่พอต่อการป้องกันการติดเชื้อ แต่ถ้าฉีดสองเข็มแล้ว สามารถป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการได้ 60% และป้องกันการป่วยหนักได้ 92% ซึ่งก็ถือว่าเป็นอัตราที่สูงทีเดียว

4.ส่วน Sinovac นั้น ยังไม่มีรายงานการวิจัย แต่มีข่าวของรอยเตอร์สที่ว่า บุคลากรทางการแพทย์ของเมือง Kudus ที่มีการระบาดของสายพันธุ์ Delta นี้ ติดเชื้อไป 350 คน จากทั้งหมด 5,000 คน ทำให้มีความกังวลกันว่า Sinovac นั้นป้องกันสายพันธุ์ Delta ไม่ได้

เคสนี้ผมขอให้ข้อมูลเพิ่มดังนี้ครับ

– จากการให้สัมภาษณ์ของหัวหน้าหน่วยงานสาธารณสุขของเมือง Kudus ลงเว็บไซต์ท้องถิ่นคือ Jakarta Globe ตัวเลขคือมีบุคลากรการแพทย์ของเมืองติดเชื้อโควิดทั้งหมด 308 คน จากทั้งหมด 6,085 คน (ส่วนใหญ่ได้ฉีด Sinovac 2 เข็มแล้ว) ดังนั้นก็คิดเป็น 5% ของบุคลากรที่ติดเชื้อ

– 90% เป็นการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ หรือไม่รุนแรง จึงให้กักตัวที่บ้าน ซึ่งหายแล้วและพร้อมกลับมาทำงานต่อ

– ดังนั้น หัวหน้าหน่วยงานท่านนี้จึงสรุปว่า วัคซีน Sinovac นั้น “มีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้เกิดอาการร้ายแรง”

5.เพราะฉะนั้น จึงสรุปได้ว่า ในการป้องกันการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ Delta นั้น วัคซีน mRNA (ไฟเซอร์ / โมเดิร์นน่า) สามารถสร้างภูมิได้สูงกว่าชนิดอื่น ๆ แต่ก็ต้องฉีดให้ครบ 2 เข็มเช่นกัน ส่วน AstraZeneca (และน่าจะ Johnson & Johnson ด้วย) หากฉีดครบ 2 เข็มแล้ว ก็ป้องกันการติดเชื้อได้ระดับหนึ่ง แต่ป้องกันการป่วยหนักได้ดีใกล้เคียงกับไฟเซอร์ ส่วน Sinovac ยังไม่มีผลการวิจัย แต่ผลจากกรณีเมือง Kudus ก็แสดงให้เห็นว่า หลังฉีดสองเข็มแล้ว ก็มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้ (จากจำนวนผู้ป่วย 5%) และสามารถจะป้องกันอาการป่วยหนักได้ดีเช่นกัน (จากจำนวนผู้ป่วยเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ 90%)

และถ้าถามผม ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนชนิดไหน ยังไงเราก็ยังประมาทไม่ได้ และควรต้องเข้มงวดกับตัวเอง คือใส่แมสก์ ล้างมือ ไม่แออัด ให้มากที่สุดอยู่ดี จนกว่าประเทศและโลกเราจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ครับ

และถ้าถามผม ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนชนิดไหน ยังไงเราก็ยังประมาทไม่ได้ และควรต้องเข้มงวดกับตัวเอง คือใส่แมสก์ ล้างมือ ไม่แออัด ให้มากที่สุดอยู่ดี จนกว่าประเทศและโลกเราจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ครับ