เปิด 4 “ข้อจำกัด”ของ “รัฐบาลรักษาการ” ทำอะไรไม่ได้บ้าง

ประเทศชาติมี “ข้อจำกัดอะไร” บ้างเมื่อบริหารด้วย “รัฐบาลรักษาการ” การนับอายุถอยหลังของสภาผู้แทนราษฎรเริ่มนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง จะสิ้นสุดเมื่อครบ4ปี เสียเวลาไปแล้ว 71วัน

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2560 การนับอายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงเมื่อใดนั้น ตามมาตรา ๙๙ อายุของสภาผู้แทนราษฎรมีกำหนด คราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง ดังนั้นอายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันจะสิ้นสุดลงในวันที่ 13พ.ค.2570 เพราะการเลือกตั้งครั้งล่าสุดซึ่งเป็นครั้งที่ 27 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา

นับถึงวันนี้(23ก.ค.2566) การเลือกตั้งผ่านมาแล้ว 71วัน ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เท่ากับว่าประเทศชาติเสียโอกาสในการได้รัฐบาลชุดใหม่มาบริหารประเทศ หากให้รอไปอีก10 เดือนตามข้อเสนอของบางพรรคการเมือง เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภาหมดวาระลง จะได้ไม่มีส่วนร่วมในการโหวตนายกรัฐมนตรี เท่ากับว่า รัฐบาลชุดใหม่จะบริหารประเทศได้รวมแล้วไม่ถึง 3 ปี

ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ โดยให้ “รัฐบาลรักษาการ” ทำหน้าที่ต่อไปนั้น มี “ข้อจำกัด” หลายด้าน ซึ่งส่งผลต่อการบริหารงานและโอกาสของประเทศ การเล่นเกมการเมืองกันอย่างไม่ลดละ ยึดอัตตา และผลประโยชน์ของฝ่ายพวกตัวเอง จะกลายเป็นตัวถ่วงความเจริญของประเทศในที่สุด

ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 169 คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 167(2)อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร และต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามมาตรา 168

โดย “รัฐบาลรักษาการ” มี “ข้อจำกัด” กำหนดต้องปฏิบัติหน้าที่ตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

(1) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี

(2) ไม่แต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติ หน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

(3) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

(4) ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการ อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

การโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27ก.ค.นี้จึงมีความสำคัญ ที่จะทำให้สามารถเดินหน้าการจัดตั้งรัฐบาลมาบริหารประเทศขึ้นโดยเร็ว จบสิ้นหน้าที่ “รัฐบาลรักษาการ”หากสภาเลือกนายกรัฐมนตรีได้แล้ว และนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลก็จะถึงขั้นตอนต่อไปคือมาตรา 158

มาตรา158 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนอง พระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง