ทางหลวงชนบทซ่อมสร้างผิวทางลาดยางเน้นนำของเดิมกลับมาใช้ใหม่-มั่นใจประหยัดเวลาคุ้มค่าหลักวิศวกรรมเปิดใช้งานทันทีเมื่อซ่อมเสร็จ

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท(ทช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ทช.ได้ดำเนินการ ซ่อมบำรุงทางหลวงชนบทที่ชำรุด ด้วยวิธีซ่อมสร้างผิวทางลาดยางและปรับปรุงผิวทางลาดยางเดิม ด้วยการนำกลับมาใช้ใหม่ (HOT MIX In – Place Recycling แบบ RE – Paving) ทั้งนี้การใช้รูปแบบดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินงานซ่อมและปรับปรุงผิวทางเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ประหยัดเวลา คุ้มค่าตามหลักวิศวกรรม ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถเปิดใช้การจราจรได้ทันที ส่งผลกระทบต่อการจราจรในพื้นที่น้อยที่สุด สอดรับกับนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ทั้งนี้ได้มีการดำเนินกานในเส้นทาง ทางหลวงชนบทสาย นย.2011 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 33 – บ้านพรหมณี อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ซึ่งเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางที่ ทช.ได้อนุญาตให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดำเนินการก่อสร้างโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 4 (ระยอง – แก่งคอย) ในเขตทางของ ทช. ปัจจุบันได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ซึ่งพาดผ่านเส้นทางที่อยู่ในความดูแลของแขวงทางหลวงชนบทนครนายก จำนวน 3 สายทาง ได้แก่ ถนนทางหลวงชนบทสาย นย.2011 กม.ที่ 0+000 ถึง กม.ที่ 10+094 ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร, ถนนทางหลวงชนบทสาย นย.2003 กม.ที่ 0+800 ถึง กม.ที่ 4+250 ระยะทางประมาณ 3.5 กิโลเมตร และถนนทางหลวงชนบทสาย นย.2013 (ลอดผ่าน) 

ทั้งนี้ ทช.ได้ตรวจสอบพบว่าถนนทางหลวงชนบทสาย นย.2011 ได้รับผลกระทบจากการวางท่อก๊าซธรรมชาติ ทช.จึงได้สรุปแนวทางการซ่อมบำรุงถนนทางหลวงชนบทสาย นย.2011 โดยกำหนดรูปแบบวิธีการซ่อมบำรุงด้วยวิธีซ่อมสร้างผิวทางลาดยางและปรับปรุงผิวทางลาดยางเดิมนำกลับมาใช้ใหม่ (HOT MIX In – Place Recycling แบบ RE – Paving) ซึ่งวิธีดังกล่าวเป็นวิธีที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ มีความคุ้มค่า ไม่ส่งผลกระทบต่อ

แนวท่อก๊าซที่วางอยู่ในสายทาง การดำเนินงานเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ประหยัดเวลา สามารถเปิดใช้การจราจรได้ทันทีเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ เนื่องจากสายทางดังกล่าวเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าเชื่อมระหว่างอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก กับ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ส่งผลให้มีปริมาณการจราจรสูงถึง 8,300 คัน/วัน ขณะนี้โครงการดังกล่าวมีความก้าวหน้าไปแล้วกว่า  49% คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จประมาณปลายปี 64 โดยใช้งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจาก ปตท. 

นอกจากนี้ ทช.ยังได้ดำเนินการซ่อมสร้างผิวทางแอสฟัลท์คอนกรีต โดยวิธี Pavement In-Place Recyling และปรับปรุงผิวทางลาดยางเดิม นำกลับมาใช้ใหม่ ด้วยวิธี HOT MIX In – Place Recycling บนถนนทางหลวงชนบทสาย ชม.3035 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 – บ้านร้อยจันทร์ อำเภอสันป่าตอง, หางดง จังหวัดเชียงใหม่ แล้วเสร็จสมบูรณ์และเปิดให้ประชาชนได้ใช้สัญจรเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 64 ที่ผ่านมา