ทัพใหญ่ส.อ.ท.เข้าพบประยุทธ์ 19มิ.ย.นี้

  • เข็นสารพัดแผนให้รัฐบาลพิจารณา
  • ยืนยันไม่ต้องใช้เงินสนับสนุนจากภาครัฐ
  • ดัชนีอุตสาหกรรมเดือนพ.ค.ดีดตัวขึ้นจากรอบ4เดือน

  นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)  เปิดเผยว่า ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้   ผู้บริหารส.อ.ท.จะเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเสนอมาตรการฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจไทยหลังประสบปัญหาจาก โควิด-19 รวมถึงแนวทางการช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) โดยกระทรวงการคลังอนุมัติวงเงินให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) รวม 200,000 ล้านบาท เพื่อค้ำประกันเอสเอ็มอีจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟท์โลน)ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) วงเงิน 500,000 ล้านบาท ผ่านธนาคารพาณิชย์ อัตราดอกเบี้ยต่ำ 2%

สำหรับแผนการฟื้นฟู ที่ส.อ.ท.จะนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา  ไม่ได้เน้นการใช้เงินจากรัฐบาล  อาทิ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมจะเข้าสนับสนุนด้านเทคโนโลยีการเพาะปลูกพืชเกษตรสำคัญรวมทั้งรับซื้อ อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์ม เบื้องต้นกำหนดพื้นที่เพาะปลูกไว้  2 ล้านไร่ โดยเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 1,500 บาทต่อไร่จากการลดต้นทุน 

ส่วนประเด็นการช่วยเหลือของเอสเอ็มอี  ที่ไม่สามารถช่วยได้เพียงพอกับความต้องการคือ ปัญหาคือซอฟท์โลนของธปท.ที่ผ่านมาปลอ่ยได้น้อยมากเพียง 80,000 ล้านบาทเพราะรัฐค้ำประกันให้เพียง 2 ปีทำให้ธนาคารพาณิชบ์ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อให้จึงต้องการให้รัฐบาลให้บสย.เข้าสนับสนุนขยายการค้ำประกันไปจนถึง 5 ปี

นอกจากนี้ยังจะหารือถึงประเด็นที่เคยเสนอรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปแล้วอาทิ  การตั้งกองทุนนวัตกรรม 1,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลควรจะเป็นเจ้าภาพในการจัดตั้ง เป็นต้น รวมทั้งคุยในปัญหาของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ต้องการให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อกระตุ้นยอดผลิต และดูแลแรงงานในระบบ750,000 คน​ เป็นต้น

สำหรับดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค.   อยู่ที่ระดับ 78.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 75.9 ในเดือนเม.ย.  โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนเพราะการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19ดีขึ้นทำให้มีการคลายล็อกดาวน์ แต่ก็จากการสำรวจ พบว่า  ผู้ ประกอบการ  71.2% มีความกังวลเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นจากการระบาดโควิด-19 และสงครามการค้า,  การเมืองในประเทศ     47.7%, อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ   43.4%  และราคาน้ำมัน 32.5%  ตามลำดับ