ทอท.เดินหน้าสร้าง “seaplane Terminal”

ทอท.ฝั้นสร้าง”seaplane Terminal” นำร่องสร้างสนามบินในน้ำที่ภูเก็ต ชูโมเดลเครื่องบินสะเทิ้นน้ำ สะเทิ้นบก เกาะมัลดีฟส์-แคนาดา

  • มั่นใจลดความแออัดในสนามบินหลัก
  • กระตุ้นการท่องเที่ยวตามเกาะ ในทะเลอันดามัน เชื่อนักท่องเที่ยวตอบรับ
  • โกยรายได้เข้าประเทศทะลัก คาด 1-2ปีนี้เกิดแน่

พลตำรวจเอกวิสนุ ปราสาททองโอสถ ประธานบอร์ด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)(ทอท.) เปิดเผยว่า จากที่อุตสาหกรรมการบินกลับมาโตต่อเนื่อง ขณะเดียวกันผู้โดยสารนิยมเดินทางข้ามภูมิภาคกันมาก ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อมาถึงประเทศไทยแล้วมักจะนิยมไปเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะทะเลภาคใต้ และเดินทางต่อไปยังเกาะต่างๆทั้งในทะเลอันดามัน และ อ่าวไทย ดังนั้นตนในฐานะกำกับ ทอท. และมีสนามบินที่อยู่ในความรับผิดชอบ 6 แห่ง จึงมีแนวคิดที่จะให้ ทอท. ลงทุนสร้างสนามบินน้ำ (Water Aerodrome) หรือ ที่ขึ้น-ลงเครื่องบินในทะเล หรือเรียกว่า  seaplane Terminalภายในสนามบินภูเก็ต ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการและการลงทุน คาดว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมแน่นอนใน 1 ถึง 2 ปีนี้ 

สำหรับพื้นที่ที่เหมาะในการทำ sea plane เบื้องต้นมองว่าพื้นที่บริเวณจังหวัดภูเก็ต พังงา รวมถึงบริเวณอ่าวไทยที่เกาะสมุยมีความเหมาะสม เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีเกาะค่อนข้างมาก นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางนั่งเรือไปเที่ยวดำน้ำ และเที่ยวตามเกาะต่างๆ ขณะเดียวกันหากมี sea plane ก็จะช่วยกระจายผู้โดยสารที่จากเดิมมาลงที่สนามบินภูเก็ต สนามบินกระบี่  จำนวนมาก ก็จะสามารถเดินทางไปตามเกาะต่างๆได้อย่างสะดวก  ขณะเดียวกันก็จะช่วยลดความแออัดภายในสนามบิน คาดว่าจะเริ่มลงทุนสร้างสนามบินน้ำที่สนามบินภูเก็ตก่อน ก่อนที่จะขยายต่อไป ไปยังฝั่งอ่าวไทย ขณะเดียวกันการให้บริการ seaplane จากภูเก็ต ก็จะสามารถเดินทางไปยัง เกาะสมุย หรือหัวหิน และพัทยาได้  อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าหากเป็นไปได้ในการลงทุนเชื่อมั่นว่าจะเป็นทางเลือกในการเดินทางและช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกแบบหนึ่ง

ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)(ทอท.) กล่าวว่า สำหรับโครงการพัฒนา Seaplane Terminal นั้น เดิมทอท.ได้วางแผนที่จะลงทุนไว้รวมอยู่ในกับแผนพัฒนาขยายขีดความสามารถสนามบินภูเก็ต ระยะที่ 2 มูลค่าการลงทุนรวมกว่า  8,000 ล้านบาท ซึ่งแผนพัฒนาจะมีการสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ เพื่อรองรับผู้โดยสารเพิ่มได้อีก 6 ล้านคนต่อปี และการสร้าง Seaplane Terminal สามารถแยกการดำเนินการออกจากแผนขยายขีดความสามารถสนามบินภูเก็ต ระยะที่ 2 มาดำเนินการก่อนได้ คาดว่าเมื่อศึกษาและได้ข้อสรุปชัดเจนจะสามารถเปิดประมูลสร้าง Seaplane Terminal ได้ในช่วงต้นปี  68

ทั้งนี้ในแนวคิดการสร้าง Seaplane Terminal นั้นจะเห็นได้ว่าต้นแบบจะมีที่เกาะมัลดีฟส์  ที่ทำให้นักท่องเที่ยวสะดวกในการท่องเที่ยวตามเกาะอย่างมาก และมั่นใจว่า การสร้าง Seaplane Terminal จะได้รับการตอบรับทั้งผู้ประกอบการสายการบินที่จะลงทุนเครื่องบิน และ นักท่องเที่ยวอย่างแน่นอน เพราะจะทำให้ผู้โดยสารที่เดินทางมาลงที่สนามบินภูเก็ต จะสามารถเดินทางเชื่อมจากอาคารผู้โดยสาร ออกไปใช้บริการเครื่องบินซีเพลน ที่ให้บริการอยู่ที่ Seaplane Terminal ได้เลย ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางต่อไปเที่ยวหรือเข้าพักโรงแรมที่ตั้งอยู่ตามเกาะต่างๆทั้งบริเวณอันดามันและอ่าวไทย ซึ่งจะลดระยะเวลาในการเดินทางไปได้มาก