ททท.ติดปีกขอนแก่นบูม “ทัวร์อาหาร-ดนตรีโลก” ลุย Isan Food Tasting-ตั้งเป้าปี’67 เที่ยวไทย 5 ล้านคน

ททท.เดินหน้าลุย “Thailand Soft Power : Isan Food Tasting” นำขอนแก่นเพิ่มรายได้เส้นทางทัวร์อาหารทำเงินนำโด่ง 25%

  • ปี’67 ปั้นขอนแก่นเมืองเอนเตอร์เทนเมนต์เทศกาลดนตรีโลก ดึงคนเที่ยวทั้งปี 5 ล้านคน-ครั้ง
  • เผยขอนแก่นเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านคมนาคมทางอากาศ มีที่นั่งเที่ยวบินบริการ

นายเสกสรร ศรีไพรวรรณ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานขอนแก่น เปิดเผยว่า วางกลยุทธ์ส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวขอนแก่นตั้งแต่สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป โดยจะใช้จุดเด่นของซอฟท์ เพาเวอร์ทางด้าน“Food หรืออาหาร” ตามที่ขอนแก่นได้รับรางวัลมีร้านอาหาร “บิบ กูร์มองด์” มิชลินไกด์ ถึง 11 ร้าน มากที่สุดในอีสาน แล้วยังไม่รวมร้านมิชลินอื่น ๆ เตรียมจัดงาน “Thailand Soft Power : Isan Food Tasting” ด้วยการดีไซน์เมนูอาหารเลือกใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นรอบพื้นที่มาเล่าเรื่องตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกวัตถุดิบ ภาชนะรองและใส่อาหาร เช่น เครื่องปั้นดินเผา รวมทั้งนำ “ศิลปะการหมักดอง” อย่างวิถีสุราพื้นบ้านมาทำเครื่องดื่มเสิร์ฟในงาน พร้อมกับเปิดให้ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมผ่านเพจเที่ยวอีสาน.com แล้วสุ่มเลือกผู้โชคดีเข้าร่วมกิจกรรมช่วงวันที่ 23-27 สิงหาคม 2566 เวลา 17.30 น.ที่ร้านอาหารแก่น อ.เมือง จ.ขอนแก่น ต่อเนื่องจากก่อนหน้านี้ได้นำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวเชิงอาหารทั้งเมนูอาหารในตำนาน เมนูอาหารพระรอง รับประทานได้ง่าย ซึ่งจะต้องเดินทางมารับประทานในจังหวัดขอนแก่นเท่านั้น

การสร้างจุดขายด้วยเส้นทางท่องเที่ยวเชิงอาหารสามารถสร้างประโยชน์ให้พื้นที่ได้หลายมติด้วยกัน โดยเฉพาะ “มิติรายได้เพิ่มขึ้น” ต่อเนื่องทุกปีจากนักท่องเที่ยวใช้จ่ายเพื่อรับประทานอาหารและเครื่องดื่มซึ่งเป็นรายได้หลักโดยมีส่วนแบ่งตลาด 24-25% ของรายได้ท่องเที่ยวทั้งหมด เปรียบเทียบแล้วสูงกว่าค่าใช้จ่ายด้านที่พักซึ่งทำได้ 21% ททท. ตัดสินใจทำประชาสัมพันธ์เลือกนำอาหารมาเป็นสินค้าสำคัญทางการท่องเที่ยวในขอนแก่นเต็มรูปแบบตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ททท.ขอนแก่นวางแผนเพิ่มรายได้จากเส้นทางท่องเที่ยวอาหารด้วย 3 โครงการ ประกอบด้วย

โครงการที่ 1 ต่อยอดการท่องเที่ยวชุมชน มุ่งออกแบบกิจกรรมใหม่เมื่อนักท่องเที่ยวได้รับประทานแล้ว ตัดสินใจเลือกออกเดินทางตามแหล่งวัตถุดิบอาหาร เช่น ชุมชนแก่งละว้า ชุมชนอำเภอสีชมพู ชุมชนท่องเที่ยวภูผาม่าน ตอนนี้ได้นำไปบรรจุไว้ในโปรแกรมและกิจกรรมการท่องเที่ยว เพื่อให้ influencer, KOL เข้ามาในพื้นที่แล้วมีโอกาสนำเสนอเชิญชวนคนเข้าไปรับประทานอาหารหรือท่องเที่ยวตามพื้นที่ดังกล่าว

โครงการที่ 2 ออกแบบเมนูประสบการณ์จัดทำแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งชุมชนสามารถขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ขณะนี้ ททท.ขอนแก่น ร่วมมือกับแต่ละฝ่ายในองค์กร ททท. คือ กองนวัตกรรม กองบริหารความยั่งยืน และฝ่ายประชาสัมพันธ์ สร้างแพลตฟอร์มเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการร้านอาหาร กับชุมชนในขอนแก่น จัดทำโปรแกรมท่องเที่ยวชุมชนครึ่งวัน พาไปชมการทำปลาร้า ปลาส้ม ออกแบบทำผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ให้เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น เมื่อประสบความสำเร็จสูงสุดแล้วจะต่อยอดพัฒนาสู่ห่วงโซ่อุปทานหรือ Shape Supply ทำให้ผู้ผลิตในชุมชนขายสินค้าทางออนไลน์ทำให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

ขณะที่นักท่องเที่ยวสามารถมีส่วนร่วมกับชุมชนแหล่งท่องเที่ยวได้ด้วย ตอนนี้ ททท.ขอนแก่น จับมือกับชุมชนจัดกิจกรรม “ท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์” เมื่อเลือกเข้าพักในฟาร์มหรือโฮมสเตย์จะนำเสนอ 1.ร่วมลงมือทำ “อ๋อปลา”(อ๋อ ในความหมายคือ แกงน้ำขลุกขลิก) เลือกใช้ปลาที่ใช้ในพื้นที่ ตั้งชื่อว่า “เมนูลับ” 2.ร่วมกิจกรรมทัวร์ครึ่งวัน เริ่มตั้งแต่พาไปจ่ายตลาด ทำ D.I.Y.หาแหล่งวัตถุดิบด้วยตนเองกับประมงพื้นบ้าน แล้วนำมาทำเมนูอาหารที่บ้านกับแม่บ้าน หวังผลให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์พร้อมกับเรียนรู้เทคนิคการทำอาหารอีสานกลับไปด้วย

ผอ.เสกสรร กล่าววว่า ตอนนี้ ททท.ร่วมกับท้องถิ่นทำโครงการนำร่องพื้นที่ชุ่มน้ำ “แก่งละว้า” อำเภอเมืองขอนแก่น ซึ่งเป็นแหล่งปลาน้ำจืดมีชุมชนประมงพื้นบ้านน่าสนใจ สามารถนำมาถ่ายทอดเรื่องราวการหมักดองผลิตภัณฑ์ “ปลาร้า” ล่าสุดสร้างเว็บไซต์ www.ปลาร้า.com เกิดจากการนำปัญหาของนักท่องเที่ยวกลุ่มสนใจท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมก่อนหน้านี้ค่อนข้างยุ่งยากที่จะเข้าถึงพื้นที่ เพราะจะต้องติดต่อนัดหมายล่วงหน้าผนวกกับค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงจากต้นทุนโลจิสติกส์ค่าจัดส่งสินค้า จึงได้ปรับแผนนำเว็บไซต์ใหม่เข้ามาสนับสนุนชุมชนท่องเที่ยวขอนแก่นอย่างเต็มประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกันชุมชนก็สามารถขายของได้โดยไม่จำเป็นจะต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาในพื้นที่ และช่วยลดการทำเทเลเมดโปรแกรม หรือตั้งตารอนักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว วิธีนี้เป็นการเข้าไปช่วยแก้ปัญหาโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน (supply side) เพราะทางชุมชนแก่งละว้ามีความเข้มแข็งปัจจุบันขายของได้ค่อนข้างดี แต่ยังสามารถทำรายได้เพิ่มด้วยวิธีแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น

สำหรับนักท่องเที่ยวหากจะเข้ากิจกรรมท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ในชุมชน จะต้องจองล่วงหน้าบนแพลตฟอร์มที่จัดเตรียมไว้ ปัจจุบันได้นำออฟชั่นนี้ไปวางไว้กับทางร้านอาหารและที่พักต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการเรียบร้อยแล้ว

ล่าสุด ททท.ขอนแก่น ได้นำเส้นทางดังกล่าวไปเสนอผ่านโครงการ Meaningful Travel Showcase : Amazing Thailand Roadshow to Scandinavia 2023 ในตลาดสแกนดิเนเวีย เมืองโคเปนเฮเก้น ประเทศเดนมาร์ก สต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เมืองละ 1 วัน ตลาดดังกล่าวแสดงความสนใจ เนื่องจากวัฒนธรรมของสแกนดิเนเวียก็ทำเรื่องหมักดองปลาเช่นกัน คือนำปลาทะเลมาหมักคล้ายปลาร้าของอีสาน ซึ่งก่อให้เกิดการสร้างสมดุลหรือลดขยะอาหาร (Food Waste) ด้วยวิธีถนอมอาหาร ททท.จึงหยิบยกเรื่องราวของขอนแก่นตามเส้นทางปลาร้า เส้นทางเกลือซึ่งเป็นแหล่งนำมาหมักดองอาหาร และทำโฮมสเตย์แบบ Home cook โดยใช้วัตถุดิบหาได้ในชุมชนปรุงโดยฝีมือแม่ไปเสนอตลาดสแกนดิเนเวียในชื่อ Khonkaen Gastronomy Towards Sustainable Tourism สร้างแรงจูงใจพร้อมจะสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับนักท่องเที่ยวตลาดนี้ต่อไป

ผอ.เสกสรร กล่าวว่าปีงบประมาณ 2567 วางแผนจะต้องดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าขอนแก่นให้ได้ 5 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ตามเป้าหมายให้ใกล้เคียงปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ด้วยศักภาพปัจจุบันขอนแก่นเติบโตจากตลาดไมซ์ MICE ไฮไลต์โดดเด่นด้าน E-Entertainment Events เป็นแรงขับเคลื่อนรายได้ ขณะนี้ได้พยายามจัดอีเวนต์ขนาดใหญ่เด่น ๆ อย่างเทศกาลดนตรีระดับนานาชาติ สามารถดึงคนในประเทศและต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาชมได้

ปัจจุบัน ททท.กับทางจังหวัดขอนแก่น ภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานเกี่ยวข้องกับการจัดงานเชิงสร้างสรรค์ หารือร่วมกันแล้วตั้งแต่ปลายปี 2566 หรือต้นปี 2567 เตรียมจัด Music Events ในรูปแบบเอนเทอร์เมนท์เชิงวัฒนธรรม นำเสนอเป็น “จุดขายใหม่” ทางการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นให้เกิดรายได้ช่วงฤดูท่องเที่ยว (high season)เริ่มปลายปีนี้เป็นต้นไปโดยมีงานอีเวนต์ที่สามารถจัดได้ทันที คือ “อีสาน เฟสติวัล” พยายามนำวิถีวัฒนธรรมแซกอยู่ในดนตรี ตามปกติอีเวนต์นี้จะเริ่มพฤศจิกายน-ธันวาคม ของปี เลือกใช้ศูนย์ประชุมนานาชาติขอนแก่น พร้อมกับบรรจุเป็นปฏิทินจัดงานไว้แล้ว เนื่องจากที่ผ่านมามีตัวอย่างผู้จัดงานสไตล์อินดี้ดึงคนจากทั่วประเทศหลั่งไหลเข้าขอนแก่นภายช่วง 3 วันมากกว่า 100,000 คน สร้างทั้งปริมาณคนเข้าร่วมและรายได้มหาศาล

ขณะเดียวกันขอนแก่นเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านคมนาคม ทางอากาศ มี “ที่นั่งเที่ยวบินบริการ” เดินทางเข้าออกเชื่อมโยง ระหว่างกรุงเทพฯ-ขอนแก่น 44-45 เที่ยว/วัน ไป-กลับ ประมาณ 80-90 เที่ยว/วัน ยังไม่รวมเที่ยวบินข้ามภูมิภาค จากภาคเหนือ ได้แก่ ขอนแก่น-เชียงใหม่ ภาคใต้ ขอนแก่น ปลายทาง ภูเก็ต และหาดใหญ่ ซึ่งสามารถประชาสัมพันธ์ดึงดูดนักท่องเที่ยวข้ามภาคเพิ่มได้อีกช่องทาง เช่นเดียวกับ “ทางบก” ก็มีรถโดยสารประจำทาง กับรถไฟ บริการอย่างสม่ำเสมอ

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen