ททท. ชูเชียงใหม่รับแอร์ไลน์จีน ไฮซีซันบิน 8 เมือง โรงแรมเชนรุกเปิดบริการ รับทัวร์คนรวยใช้เงินสูง

ททท.ดันเชียงใหม่รับแอร์ไลน์สจีน 8 เมืองบินต่อเนื่องไฮซีซันปี’67 ทุ่มขายท่องเที่ยวซอฟท์เพาเวอร์ 5F

  • โรงแรมเชนใหญ่ชิงเปิดบริการรับตลาดไฮเอนด์ครอบครัวคู่รัก/ฮันนีมูนอินเซนทีฟใช้จ่ายเงินสูง 13,000 บาท/คน/ทริป
  • พบนักท่องเที่ยวตลาดจีนหลังโควิดมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปชอบเดินทางท่องเที่ยวแบบอิสระโดยลำพัง เป็นกลุ่มขนาดเล็ก

นางสาวสุลัดดา ศรุติลาวัณย์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลมีนโยบายวีซ่าฟรีให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยโดยไม่ต้องมีวีซ่าพำนักได้ตามระยะเวลากำหนด 30 วันกับสาธารณรัฐประชาชนจีนกับคาซัคสถาน โดยมีเชียงใหม่เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจีนติด 1 ใน 3 ของไทย จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการท่องเที่ยวในเชียงใหม่และพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนช่วงวันหยุดสำคัญ 2 เทศกาล คือ เทศกาลแรก วันชาติจีน ช่วง 1-10 ตุลาคม 2566 เทศกาลที่สอง ช่วงตรุษจีนปลายเดือนมกราคม-ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567

มาตรการวีซ่าฟรีจะส่งผลดีกับตลาดนักท่องเที่ยวจีนเข้าสู่เชียงใหม่ในจังหวะฤดูเดินทางไฮซีซันปลายปีนี้พอดี ผนวกกับการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวกลับมาอย่างเห็นได้ชัด ตามสถิติ “จีนเที่ยวเชียงใหม่” ในสถานการณ์ปกติก่อนเกิดโควิดเมื่อปี 2562 เป็นต่างชาติเข้ามาเชียงใหม่ติดอันดับ 1 คิดเป็น 35 % ของทั้งหมด จำนวนรวม 1.2 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 15,900 ล้านบาท โดยมีเที่ยวบินตรง 26 เที่ยว/สัปดาห์ จากเมืองหลักและเมืองรองของจีน

ในปี 2566 เมื่อจีนทยอยเปิดประเทศ มีเที่ยวบินตรงจากจีนเข้าเชียงใหม่ ขณะนี้ประมาณ 30 % ยังบินไม่เต็มที่ ส่วนสถิตินักท่องเที่ยว 8 เดือนแรก ระหว่างมกราคม-สิงหาคม 2566 จีนกลับมาท่องเที่ยวเชียงใหม่อันดับ 1 เหมือนเดิมด้วยจำนวน 143,000 คน คิดเป็น 20 % ของปี 2566 พอหลังรัฐบาลประกาศกระตุ้นโดยใช้วีซ่าฟรี ทางผู้ประกอบการเริ่มเห็นสัญญาณตลาดจีนเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญขยับจากหลัก 100 ขยับขึ้นเป็น 1,000 คน/วัน เฉลี่ยเดือนละประมาณ 30,000 คน รวมตลอดนโยบายวีซ่าฟรี 5 เดือน ระหว่าง 25 กันยายน 2566 -29 กุมภาพันธ์ 2567 จะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวเชียงใหม่จำนวนรวมถึง 1.5 แสนคน

ล่าสุดนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้ทางสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ขยายเวลาเปิดบริการจากปัจจุบันวันละ 18 ชั่วโมง เป็น 24 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยเพิ่มเที่ยวบิน การเข้าถึงสนามบิน และความถี่เที่ยวบิน ปริมาณผู้โดยสาร เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

ปัจจุบันมีเที่ยวบินตรง ไป-กลับ ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนจาก 8 จุดบิน เข้ามายังเชียงใหม่ ได้แก่ กวางโจว คุนหมิง จิ่งหง ฉางซา เฉินตู เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง หางโจว

ผอ.สุลัดดา กล่าวว่า ททท.และผู้ประกอบการในเชียงใหม่ได้เตรียมวางกลยุทธ์เพิ่มรายได้จากตลาดนักท่องเที่ยวจีนโดยจะใช้จุดขาย Soft Power (5F) นำเสนอสินค้า F 1 : Festival หรืองานเทศกาล  ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของเชียงใหม่ได้แก่ เทศกาลยี่เป็ง เดือนพฤศจิกายน นี้ ทางเทศบาลเมืองเชียงใหม่กำลังเตรียม งานที่ 2 ไม้ดอกไม้ประดับช่วงกุมภาพันธ์ 2567 ตรงกับเทศกาลวันหยุดตรุษจีนพอดี

F2 : Fashion หรือแฟชั่น ในเชียงใหม่มีความโดดเด่นเกี่ยวกับศิลปะหัตกรรม ของที่ระลึกต่าง ๆ ที่วางจำหน่ายบริเวณตลาดจริงใจ ตลาดนิมมานเหมินทร์ ปัจจุบันจะเห็นการไลฟ์สดขายสินค้าของที่ระลึก เสื้อผ้า กระเป๋า หัตถกรรมอีกจำนวนเยอะมาก สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้างานทำมือได้เป็นอย่างดี

F 3 : Food/อาหาร ในเชียงใหม่มีร้านอาหารสไตล์ Fine Dining ร้านชา กาแฟ สไตล์ฮอปปิ้ง นักท่องเที่ยวจีนมักจะนิยมมาใช้บริการตามการรีวิวของอินฟลูเอนเซอร์ เพื่อทดลองรับประทานเมนูจานเด่นเป็นซิกเนเจอร์ หรือลองเครื่องดื่มรสชาติใหม่ และจะดูจากการใช้วัตถุดิบชุมชน รวมถึงอาหารถิ่นยอดนิยมอย่าง ข้าวซอย น้ำพริกอ่อง และอื่น ๆ

F4 : Fight/เน้นกีฬาเพื่อสุขภาพสไตล์ Fit &Firm นำเสนอการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ Health & Wellness การดูแลสุขภาพกายและใจ ทำสปา นวดแผนไม้ โยคะ หรือนวดแบบพื้นบ้านช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มได้ การท่องเที่ยวตามแหล่งชุมชนแล้วร่วมทำกิจกรรมผลิตลูกปะคบ ช่วยสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวอย่างมีคุณค่าและความหมายเพิ่มรายได้กระจายสู่ท้องถิ่นได้ด้วย

F5 : Faith หรือการท่องเที่ยวตามความเชื่อและความศรัทธา จะเน้นเจาะนักท่องเที่ยวสายมู ซึ่งชาวจีนนิยมเดินทางสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอพรในเชียงใหม่มีให้เลือกอย่างหลากหลายมากมาย

ผอ.สุลัดดา กล่าวว่า สถานการณ์นักท่องเที่ยวตลาดจีนหลังโควิดมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดเจนคือเดินทางท่องเที่ยวแบบอิสระโดยลำพัง F.I.T. เป็นกลุ่มขนาดเล็ก โดยเฉพาะกลุ่มครอบครัว พ่อแม่ลูก ไม่ได้เดินทางพร้อมกันเป็นหมู่คณะจำนวนครั้งละมาก ๆ เหมือนแต่ก่อน เรื่องที่ 2 จองโปรแกรมการท่องเที่ยวโดยตรงผ่านทางบริษัทตัวแทนขายท่องเที่ยวออนไลน์ OTA

เมื่อรัฐบาลไทยประกาศใช้มาตรการวีซ่าฟรีให้จีนยิ่งเพิ่มความสะดวกให้กับจีนมาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้นจาก 3 กลุ่มตลาด ได้แก่ กลุ่มที่ 1 “ครอบครัว” ซึ่งสามารถเดินทางได้โดยไม่ยุ่งยากอีกต่อไป กระบวนการพอมาถึงเมืองไทยก็ผ่านเคาน์เตอร์ตรวจคนเข้าเมืองได้อย่างรวดเร็ว กลุ่มที่ 2 คู่รัก/ฮันนีมูน กลุ่มที่ 3 นักเดินทางที่ได้รางวัลท่องเที่ยวฟรี(incentive) บริษัทในจีนนิยมนำพนักงานมาสัมมนา ท่องที่ยวไปพร้อม ๆ กัน

ส่วน “กระจายตัวของนักท่องเที่ยวจีน” ในเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง โดยใช้ศักยภาพของเที่ยวบินตรงจากจีนเข้าสู่สนามบินนานาชาติเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางหรือ Hub แล้วเดินทางต่อไปแบบท่องเที่ยวเชื่อมโยง ไปยัง ลำพูนเชียงราย ศูนย์อนุรักษ์ช้าง จ.ลำปาง หรือกลุ่มขับรถท่องเที่ยวก็จะ จ.แม่ฮ่องสอน

แนวโน้มนักท่องเที่ยว “ใช้จ่ายเงินระหว่างท่องเที่ยวในเชียงใหม่” ปี 2566 ภาพรวมต่างประเทศพำนักเฉลี่ย 3 วัน/คน/ทริป ใช้เงินกว่า 4,000 บาท/คน/ทริป ส่วนนักท่องเที่ยวจีนใช้จ่ายเงินมากกว่า 13,000 บาท/คน/ทริป ทางเชียงใหม่จึงได้นำเสนอ “สินค้า” ซึ่งสามารถสร้าง “รายได้เพิ่ม” จากนักท่องเที่ยวมากขึ้น เช่น เทศกาลงานต่าง ๆ ที่จะจัดกิจกรรมพักค้างเพิ่มขึ้น เช่น งานแสดง แสง-สี-เสียง นักท่องเที่ยวจะมาชมความสวยงามของงานช่วงกลางคืน หรือการขยายกิจกรรมทำ D.I.Y.งานแฮนด์เมด ได้รับความนิยมมาทำกิจกรรมอาหาร หรือ D.I.Y.กับชุมชน

รวมไปถึง “ที่พัก” ตอนนี้ในเชียงใหม่กลับมาเปิดบริการแล้วกว่า 80 % ล่าสุดนักลงทุนไทยได้เปิดบริการโรงแรมเชนใหม่อย่าง อินเตอร์คอนติเนนตัล จึงน่าจะเป็นอีกส่วนที่ช่วยเพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวด้วยการนำเสนอแบรนด์มาตรฐานระดับอินเตอร์สร้างความน่าเชื่อถือได้ด้วย ชาวจีนยุคปัจจุบันนิยมเลือกที่พักโรงแรมตามกระแสโดยเฉพาะมี Influencer มารีวิว เช่น โรงแรมในเชียงใหม่ที่สร้างสไตล์โคโรเนียล บางครั้งยอมจ่ายเงินเพียงแค่ใช้เป็นสถานที่พักแค่เฉพาะช่วงเวลาในระหว่างวัน (day use) เพื่อถ่ายรูปเช็คอิน และนิยมเปลี่ยนที่พักไปตามโรงแรมต่าง ๆทุกวัน ซึ่งเกิดทั้งผลดีคือกระจายรายได้ แต่ผลเสียคืออัตราเข้าพักเฉลี่ย (OR) ของโรงแรมอาจจะค่อนข้างสั้นไปบ้างยกเว้น “กลุ่มครอบครัว” จะเลือกพักต่อเนื่องกันที่เดียวหลายวัน

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen