ททท.จัดทัพใหญ่รุกสื่อสารตลาดเที่ยวไทย-ต่างชาติบูมสุขทันทีที่ได้เที่ยว-ทุ่มใช้เครื่องมือยุคใหม่ทุกทาง

ททท.จัดทัพสื่อสารตลาดเร่งผนึก AIS เครือ ซี.พี.หนุน “เที่ยวไทย” ลุยขาย “สุขทันทีที่ได้เที่ยว” โหม 55 เมืองรองและเที่ยววันธรรมดา

  • ชู Meaningful Relationshipโกยตลาดใหญ่ต่างชาติอาเซียน เอเชีย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น เศรษฐีซาอุ
  • งัดใช้เครื่องมือใหม่รุก Fandom ทั้ง Pop, Sub Culture อินฟลูเอนเซอร์ โซเชียล Web สตรีมมิ่งหนัง เทเลคอมมิวนิเคชั่น

นายนิธี สีแพร รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.จะเร่งสร้างการรับรู้ทั้งกับคนไทยและต่างชาติเดินทางท่องเที่ยวในเมืองไทยด้วยแคมเปญต่าง ๆ ผนวกเข้ากับกิจกรรม ททท.จัดขึ้นทั้งของด้านตลาดในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงบูรณาการความร่วมมือกับทุกสำนักงานแล้วเผยแพร่ให้กลุ่มเป้าหมายรับรู้อย่างกว้างขวาง ขณะนี้มีธีมหลัก Amazing Thailand เชื่อมโยงกับ “ตลาดในประเทศ” คือแคมเปญAmazing ยิ่งกว่าเดิม กับ “สุขทันทีที่ได้เที่ยว” กระตุ้นคนไทยซึ่งมีเรื่องกวนใจหลายอย่างก็ให้นึกถึงการท่องเที่ยวผ่อนคลายให้เกิดความสุขได้ทันทีกับคนรู้ใจ เลือกสถานที่ตามแหล่งเป้าหมาย ส่วน “ตลาดต่างประเทศ” จะเน้นส่งมอบประสบการณ์ในเมืองไทยมากกว่ามาท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว จึงได้เชื่อมโยงกับ Meaningful Relationship สร้างจุดขายการท่องเที่ยวโดยมีความผูกพันกับเมืองไทยให้เกิดขึ้นด้วย และสร้างการมีส่วนร่วมเข้าถึงวิถีชีวิตชุมชน ธรรมชาติ วัฒนธรรม ทำกิจกรรมต่างๆ

โดยจะใช้ความพร้อมของสินค้าไทยไฮไลต์คือ “ซอฟท์ เพาเวอร์” 5F มีทั้ง Food อาหารการกิน Festival เทศกาลท่องเที่ยว Fashion เครื่องแต่งกายแฟชั่นผ้าไทย โยงกับการใช้จ่ายเงินช้อปปิ้ง Fight ศิลปะการต่อสู้ Film ท่องเที่ยวตามรอยละครและภาพยนตร์ดัง เสริมเพิ่มด้วย Festival จัดเทศกาลท่องเที่ยวงานมิวสิคดนตรีและสปอร์ตกีฬาต่างๆ

รวมทั้งมีแผน “สื่อสารยามวิกฤต : Crisis Communication” เพราะ ททท.คงไม่สามารถโปรโมตด้านเดียวแต่จะต้องเน้นให้เกิดความเชื่อมั่นทางด้าน “มาตรฐานความปลอดภัย” เพื่อขยายฐานการเดินทางพร้อมกับใช้จ่ายเงินท่องเที่ยวอย่างมีความสุขได้ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาใดต้องสื่อสารออกสู่สาธารณะด้วยข้อเท็จจริง ซึ่งบางเรื่องเกิดขึ้นฉับพลันและได้รับการแก้ไขทันทีแล้วผ่านไปเรียบร้อยแล้ว โดยไม่ได้เกิดความรุนแรงอย่างที่คิด

นายนิธี กล่าวว่า วางแผนทำแคมเปญสื่อสารการตลาดเกี่ยวข้องกับสินค้าท่องเที่ยวซอฟท์ เพาเวอร์ ที่ทำให้มากกว่าเดิมผ่านเครื่องมือใหม่ “Fandom Marketing” ซึ่งเป็นการทำตลาดรองรับกลุ่มคนที่หลงใหลในสิ่งเดียวกันโดยมีศิลปิน ดารา ที่ชื่นชอบ เข้ามาร่วมโปรโมตโดยใช้ Pop Culture กับเซลิบริตี้ influencer ต่าง ๆ เข้ามาเสริมทัพขณะนี้ได้พูดคุยกับตลาดที่มีความพร้อมอย่างทางเกาหลี สาธารณรัฐประชาชนจีน เลือกแพลตฟอร์มสื่อที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย แล้วโฟกัสตลาดเด่นมีศักยภาพจริง ๆ ตลาดต่างประเทศ “ระยะใกล้” โดยรับฟังพันธมิตรในตลาดแถบประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน อาเซียน เอเชียตะวันออก ควบคู่กับการบริหารความเสี่ยงโดยไม่ได้ยึดอยู่เพียงตลาดเดียว แต่จะกระจายทำให้ครอบคลุมพื้นที่ตลาดหลักของไทย

โดยเลือกทำ “กิจกรรม” ที่ทำแล้วได้ผลอย่าง Amazing Festival ได้ไปจัดงานออนไลน์ ออนกราวนด์ อีเวนต์ ตามประเทศต่าง ๆ ทำร่วมกับซอฟท์ เพาเวอร์ ของไทย เช่น ทิฟฟานี่ ซึ่งมีคนรู้จักทั่วโลกสามารถขยายผลดึงความสนใจแล้วดึงกลุ่มตลาดใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มอีกได้ หรือศิลปิน K-Pop แล้วตอนนี้ T-Pop ก็เริ่มโด่งดังไปทั่วโลกแล้วเหมือนกันททท.จะทำร่วมเดินสายไปกับศิลปินร่วม Fan Meet ต่าง ๆ นอกเหนือจากสร้างการรับรู้แล้วจะตัดสินใจเลือกมาท่องเที่ยวจริงในเมืองไทย และจัด Fan Meet ในไทย เบื้องต้นมีศิลปินที่จะชวนมาร่วมกับการท่องเที่ยว เช่น เน็ตกับเจมส์หรือหากมีงบประมาณมากเพียงพอจะขยับไปถึง “พีพี บิวกิ้น” คาดจะเป็นแมกเน็ตใหญ่สร้างการรับรู้เที่ยวเมืองไทยได้

สำหรับการใช้เครื่องมือสื่อสารการตลาดท่องเที่ยว ททท.จะทำให้ครบ 360 องศา ออฟไลน์ในรูปแบบออนกราวนด์อีเวนต์ หรือในสาธารณรัฐประชาชนจีนอาจจะต้องทำโซเชียล มีเดียต่าง ๆ อย่าง โต่วอิน เว็บไซต์ ไป่ตู้ และอื่น ๆ อย่างfacebook, TikTok รวมทั้งสตรีมมิ่งหนัง Netfix ในจีนก็มี IQiyi, Youku หรือเทเลคอมมิวนิเคชั่น หัวเหว่ย ไชน่าโมบาย และเรื่องของ NFT นำมาใช้ทำ Smart Vourcher สมาร์ตคูปอง จะนำมากลไกและกิมมิกผสมผสานสนับสนุนการตลาดโดยใช้หนึ่งใน Sub Culture กระตุ้นความสนใจคนรุ่นใหม่ ต่อเนื่องไปจนถึงเกมส์ใหม่ ๆ ที่คนสนใจและมีส่วนร่วมเพื่อออกเดินทางท่องเที่ยวเมืองไทยได้

นายนิธี กล่าวว่า แนวทางการสื่อสารตามนโยบายใหม่ของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน มุ่งกระตุ้นการท่องเที่ยวแบบไร้รอยต่อเที่ยวได้โดยไม่มีฤดูกาลอีกต่อไปนั่นคือเมืองไทยเที่ยวได้ทั้ง 365 วัน จึงจะแยกกลยุทธ์สื่อสารการตลาดแบ่งเป็น “ตลาดต่างประเทศ” ต่อไปจะไม่มี High หรือ Low season อีกต่อไป จะต้องใช้วิธีบริหารความเสี่ยง “หาตลาดอื่นมาทดแทน” ตามพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่สนใจเดินทางเข้าไปยังพื้นที่นั้น ๆ เพื่อให้แหล่งท่องเที่ยวไม่ต้องเผชิญกับปัญหาตกท้องช้างหรือคนเข้าไปเที่ยวน้อยมากบางช่วง ตลาดที่ทำได้คือ Digital Nomad ขณะที่ “ตลาดในประเทศ” ก็โหมแคมเปญ “สุขทันทีที่ได้เที่ยว” เมื่อมีเวลาก็สามารถเลือกใช้เวลาใน 365 วัน ตัดสินใจไปเมื่อไรก็ได้ตามความพร้อมของแต่ละคน เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น

โดยจะใช้กลยุทธ์การทำงานร่วมกับ ททท.ตลาดในประเทศ ซึ่งจัดทำแคมเปญ เที่ยว 55 เมืองรอง ท่องเที่ยววันธรรมดา จะต้องหารือกันต่อไป โดยใช้ธีมหลัก “สุขทันทีที่ได้เที่ยว” จากนั้นก็จะทำแคมเปญร่วมกับพันธมิตร อย่างAIS หรือทำไปบ้างแล้วกับ บริษัท นิชชิน จำกัด ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขยายต่อไปยังเครือซี.พี.เจ้าของแบรนด์ 7-11

ส่วน “ตลาดต่างประเทศ” ตลาดระยะไกล ยังคงรักษาฐานไว้ทั้งสหภาพยุโรป อเมริกา แล้วเพิ่มตลาดใหม่จากยุโรปตะวันออก ซาอุดิอาระเบีย เร่งกระตุ้นสร้างการรับรู้มากขึ้น ผนวกกับการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันจะเร่งเพิ่มรายได้ ทางด้าน “ตลาดระยะใกล้” จาก สาธารณรัฐประชาชนจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวันฮ่องกง อาเซียน ตอนนี้มีแนวโน้มที่ดีมากขึ้น จะต้องแยกรูปแบบการสื่อสารให้สอดคล้องกับนักท่องเที่ยว เน้นจุดขายท่องเที่ยวเมืองไทยด้านอาหารการกิน ความสนุกสนาน และการมีส่วนร่วมกับคนในท้องถิ่น อย่างปลอดภัย และการเพิ่มประสบการณ์ใหม่ ๆ

ทั้งนี้ ททท.ขอฝากให้คนไทยทั่วประเทศซึ่งมีความพร้อมร่วมขับเคลื่อนตามแนวทางของรัฐบาลใหม่สนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยว โดยเปิดนโยบายวีซ่าฟรี นับจากนี้เป็นต้นไปจึงขอความร่วมมือให้คนไทยร่วมกันเป็นเจ้าบ้านที่ดี ให้มีมาตรฐานความปลอดภัย รวมทั้งหันมาท่องเที่ยวในประเทศ เพราะเมืองไทยมีธีม “สุขทันทีที่ได้เที่ยว” ครบทั้ง 365 วัน สามารถเดินทางได้ตลอดทุกวัน

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen