ถมไม่เต็ม!ครม.อนุมัติเพิ่มงบ 8,342 ล้านบาท ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวและสินเชื่อชะลอการขายข้าว

  • อนุมัติร่าง MOU ค้าข้าว ไทย-อินโดนีเซีย 1 ล้านตัน/ปี
  • เพิ่มโอกาสข้าวไทยเจาะตลาดอินโด

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติวงเงิน 8,342 ล้านบาทเพื่อเพิ่มวงเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2563/64 รอบที่ 1 จำนวน 3,838 ล้านบาท ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยเพิ่มจากเดิมที่ ครม. เคยอนุมัติไปแล้ว เมื่อ 1 ธ.ค. 2563 ซึ่งมีจำนวน 46,807 ล้านบาท รวมงบประมาณโครงการทั้งสิ้น 50,646.27 ล้านบาท เนื่องจากมีเกษตรกรลงทะเบียนเพิ่มขึ้นหลังจากที่ ครม.อนุมัติไปแล้ว จำนวน 110,000 ครัวเรือน และกรมส่งเสริมการเกษตรจะต้องลงพื้นที่ตรวจสอบความถูกต้อง ซึ่งจะยืนยันตัวเลขที่แท้จริงได้ ประมาณสิ้นเดือนพ.ค. 2564

ขณะเดียวกัน ครม. ได้อนุมัติเพิ่มวงเงินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64 จำนวน 4,504 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่ ครม. เคยอนุมัติไปแล้ว เมื่อ 3 พ.ย. 2563 จำนวน 19,826 ล้านบาท รวมงบประมาณโครงการทั้งสิ้น 24,331 ล้านบาท อีกทั้งยังขยายปริมาณข้าวเปลือกจำนวน 320,000 ตันข้าวเปลือก เพิ่มจากเดิมที่กำหนดไว้ 1.5 ล้านตันข้าวเปลือก รวมเป็น 1.82 ล้านตันข้าวเปลือก และขยายระยะเวลาจัดทำสัญญากู้โครงการถึงวันที่ 31 มี.ค. 2564 ส่วนภาคใต้ จะขยายระยะเวลาถึงวันที่ 31 ก.ค.โดยยังคงยึดหลักการเดิมคือ เกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางของตนเองจะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวอัตรา 1,500 บาทต่อตันข้าวเปลือก ส่วนสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกเข้าโครงการได้รับอัตรา 1,000 บาทต่อตันข้าวเปลือก และเกษตรกรผู้ขายข้าวจะได้รับอัตรา 500 บาทต่อตันข้าวเปลือก สำหรับผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 25 ม.ค.2564 ทาง ธ.ก.ส. ได้จ่ายสินเชื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 210,488 ราย รวมสินเชื่อจำนวน 10,449 ล้านบาท และมีปริมาณข้าวเปลือก จำนวน 1.04 ล้านตัน

นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบให้ยกระทรวงพาณิชย์ได้ทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการค้าข้าวกับรัฐบาลอินโดนีเซีย โดยทั้งสองฝ่ายตกลงจะขายข้าวขาว 15 – 25% ในปริมาณไม่เกิน 1 ล้านตันต่อปี โดยฝ่ายไทยมอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนฝ่ายอินโดนีเซียมอบหมายให้รัฐวิสาหกิจ Perum Bulog เป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา กรมการค้าระหว่างประเทศได้ทำสัญญาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) กับรัฐวิสาหกิจ Perum Bulog ของรัฐบาลอินโดนีเซีย ภายใต้ MOU ฉบับเดิม ที่สิ้นสุดไปแล้วเมื่อ พ.ศ.2559 รวมทั้งสิ้น 4 สัญญา มีปริมาณข้าวรวม 925,000 ตัน