ตามคาด “กนง.” มีมติ 5 ต่อ 2 ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เหตุเศรษฐกิจไทยแย่ลงเร็ว

  • ซ้ำส่งออกลดเริ่มกระทบจ้างงาน-การใช้จ่ายในประเทศ
  • เงินเฟ้อต่ำกรอบเป้าหมาย 2 ปีซ้อน หนุนธปท.กดค่าบาทอ่อน
  • ด้านบิ๊กออมสินประเมินรอบนี้แบงก์พาณิชย์ลดดอกเบี้ยทั้งเงินฝาก-เงินกู้

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวแถลงผลการประชุม กนง. วันนี้ (6 พ.ย.2562) กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25 %ต่อปี จาก 1.50% เหลือ 1.25%  ต่อปี โดยให้มีผลทันที โดยเหตุผลหลักของการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ เนื่องจากกนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ และต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้น อีกทั้งต่ำกว่าตัวเลขการประมาณการล่าสุดของธปท.ที่ได้ประเมินไว้ในการประชุมกนง.ครั้งก่อนหน้า แม้จะรวมผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐแล้ว

ทั้งนี้การส่งออกที่ลดลงมีผลไปสู่การจ้างงาน และการใช้จ่ายในประเทศมากขึ้น ส่วนภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงตามรายได้ของครัวเรือน และการจ้างงานที่ปรับลดลงเร็ว โดยเฉพาะในภาคการผลิตเพื่อส่งออก รวมถึงแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อมากขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานต่ำลง จากการใช้จ่ายของประชาชนที่ลดลง โดยธปท.คาดว่าในปีนี้และปีหน้า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีจะต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินที่ตั้งไว้ 1% จากเดิมที่เคยคาดว่าในปีหน้าเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่ขอบล่างของเป้าหมาย 

“กนง.เสียงข้างมาก 5 เสียง เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย ขณะที่ กนง.อีก 2 เสียง เห็นว่าในภาวะปัจจุบันที่นโยบายการเงินอยู่ในระดับผ่อนคลายอยู่แล้ว การลดอัตราดอกเบี้ยอาจไม่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มได้มากนัก เมื่อเทียบกับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งยังจำเป็นต้องรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ที่มีจำกัดเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต”

นอกจากนี้กนง.กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นในภาวะที่ความเสี่ยงด้านต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น โดยได้สนับสนุนการผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและสร้างสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายของ ธปท. ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท และช่วยให้ภาคเอกชนบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้สะดวกขึ้น แต่ยังให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด”

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย  ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของกนง. เป็นไปในทิศทางเดียวกันธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด และธนาคารกลางของหลายประเทศ ที่ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายไปก่อนหน้านี้  ซึ่งดอกเบี้ยของกนง.ในรอบนี้ จะช่วยลดการแข็งค่าของค่าเงินบาท และช่วยผู้ประกอบการในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอัว ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในรอบนี้ เชื่อว่าจะปรับลดทั้งดอกเบี้ยเงินฝาก และดอกเบี้ยเงินกู้  ต่างจากการปรับลดดอกเบ้ียนโยบายของกนง.ในรอบก่อนหน้า ที่ธนาคารพาณิชย์ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้เพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารออมสิน จะพิจารณาตามภาวะตลาด