“ดีอีเอส” ผนึก “หัวเว่ย” เสริมกำลังภาคสาธารณสุขศไทย นำเทคโนโลยีดิจิทัลช่วย โรงพยาบาลสนามบางขุนเทียน

  • รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
  • พร้อมเพิ่มความปลอดภัยให้บุคลากรทางการแพทย์
  • ตอกย้ำพันธกิจร่วมสร้างคุณค่าให้แก่สังคมไทยต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2564 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส​) ได้ลงพื้นที่ โรงพยาบาลสนามบางขุนเทียน โดยนายชัยวุฒ กล่าวว่า   ดีอีเอส ได้ร่วมมือกับ บริษัท หัวเว่ย ประเทศไทย จำกัด นำนเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ให้แก่โรงพยาบาลสนามบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ประกอบด้วย นวัตกรรมการสื่อสารทางไกล 5G เพื่อการแพทย์ (5G Telemedicine) ระบบบริหารจัดการผู้ป่วยอัจฉริยะ (Inpatient area Intelligent Management) และระบบโครงข่ายวิทยุสื่อสารไร้สายบรอดแบนด์ eLTE (eLTE broadband trunking) โดยใช้ Idea Hub เป็นศูนย์กลางการดำเนินการโซลูชันทั้งหมด คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 6 ล้านบาท โดยนวัตกรรมเหล่านี้จะเพิ่มศักยภาพในการจัดการโครงข่ายการสื่อสารของบุคลากรในพื้นที่ให้เป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว ยกระดับประสิทธิภาพในการรับมือกับโรคระบาดอย่างเต็มที่ ตอกย้ำหนึ่งในพันธกิจของหัวเว่ยในการมีส่วนร่วมสร้างคุณค่าให้แก่สังคมไทยอย่างต่อเนื่อง

“ภาครัฐได้สนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้งานในด้านการบริหารประเทศและการบริการประชาชน ซึ่งรวมไปถึงการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ตามนโยบายเร่งด่วนโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี โดยกระทรวงดีอีเอส ให้ความสำคัญกับการดูแลประชาชนทั้งในด้านสุขภาพและการติดต่อสื่อสารในช่วงสถานการณ์แพร่กระจายของโควิด-19 ในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง”

นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้เทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นตัวช่วยสำคัญของภาคสาธารณสุขในการรับมือกับปัญหาเรื่องการขาดแคลนทางการแพทย์ และในฐานะ หัวเว่ย เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี เป็นพาร์ทเนอร์ด้านไอซีทีที่ได้รับความไว้วางใจในประเทศไทย จึงได้ระดมทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าติดตั้งระบบโซลูชันที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความเสถียรภาพของการสื่อสาร เช่น นวัตกรรมการสื่อสารทางไกล 5G เพื่อการแทย์ (5G Telemedicine) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลการวินิจฉัย การรักษาและการป้องกันโรค รวมทั้งลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้กับบุคลากรการแพทย์

รวมถึงระบบโครงข่ายวิทยุสื่อสารไร้สายบรอดแบนด์ eLTE (eLTE broadband trunking) จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความเสถียรภาพของการสื่อสารในด้านการประสานงานในช่วงเวลาสำคัญผ่านโครงข่ายไร้สายแบบบรอดแบนด์แบบเฉพาะ (Private network) ที่สามารถทำการสื่อสารผ่าน ภาพ เสียง วีดีโอ และแสดงพิกัด (Location service) ของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ผ่านโครงข่ายวิทยุไร้สาย eLTE ซึ่งสามารถทำงานโดยไม่ต้องพึ่งพาโครงข่ายของผู้ให้บริการ (Public network) หลีกเลี่ยงความแออัดจากการใช้งานโครงข่าย (traffic congestion) ของประชาชน

นอกจากนี้ยังติดตั้ง ระบบบริหารจัดการผู้ป่วยอัจฉริยะ  (Inpatient area Intelligent Management) เพื่อส่งเสริมการจัดให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างทันท่วงที และลดภาระการทำงานให้แก่บุคลากรในพื้นที่ นวัตกรรมเหล่านี้ทำงานบนเครือข่าย 5G ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แพทย์ ช่วยป้องกันให้กับบุคลากรทุกคนในโรงพยาบาลสนาม และช่วยทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันของไทยดีขึ้น”

นายอาเบล กล่วาว่า ในปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการช่วยรับมือสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยด้วยนวัตกรรมชั้นนำต่าง ๆ ของบริษัท โดยหัวเว่ยได้มอบหน้ากากอนามัยจำนวน 500,000 ชิ้น เพื่อร่วมป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19ในไทย ส่งมอบระบบวิดีโอ เทเลคอนเฟอเรนซ์แบบเรียลไทม์เพื่อการแพทย์ (Huawei Telemedicine Video Conferencing Solution) ให้แก่กรมควบคุมโรคและโรงพยาบาลในประเทศไทย รวม 7 ชุด คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้แก่บุคลากรการแพทย์ รวมทั้งส่งมอบโซลูชันผู้ช่วย AI วิเคราะห์รูปภาพทางการแพทย์เชิงปริมาณสำหรับรายงานผลตรวจภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) โควิด-19 ซึ่งทำงานบนเทคโนโลยี Cloud และ 5G ของหัวเว่ยให้แก่โรงพยาบาลรามาธิบดีและโรงพยาบาลศิริราช เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระการทำงานให้แก่บุคลากรในเวลานั้นอีกด้วย

ด้านนายแพทย์ศุภรัช สุวัฒนพิมพ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี เพื่อช่วยในงานของโรงพยาบาลสนามว่า กระทรวงดิจิทัลและ  หัวเว่ย   ที่ได้ร่วมนำนวัตกรรมเทคโนโลยีและโครงข่ายด้านการติดต่อสื่อสารเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ สถานการณ์โควิด-19 นั้นจะช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ 

“ผมมั่นใจว่าความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนทางการแพทย์ จะช่วยให้เราสามารถผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ได้ โดยโรงพยาบาลสนามมีภารกิจที่ต้องดูแลผู้ป่วยมากถึง 1,000 เตียง ซึ่งถือว่ามากที่สุดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร”

#Thejournalistclub #ดีอีเอส #หัวเว่ย #โควิด19