“ดีอีเอส” ปลี้มผลสำเร็จโรดโชว์สหรัฐ

  • “ไมโครซอฟต์” ขอปักหมุดลงทุน เอไอ-ไอโอที ณ ดิจิทัล วัลเล่ย์​ ศรีราชา
  • ดูดเม็ดเงินลงทุนในอีอีซี กว่า 1,000 ล้านบาท
  • เดินหน้าเร่งผลักดันประมูล 5G และควบรวมทีโอที-แคท

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า จากการนำคณะผู้บริหารเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกา โดยปักหมุดที่ซิลิคอน วัลเล่ย์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและลงทุนนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยี ถือเป็นการทำงาน “เชิงรุก” เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีระดับโลกที่มีการลงทุนในไทยอยู่แล้ว และแสวงหาโอกาสดึงดูดบริษัทด้านเทคโนโลยีรายใหม่ๆ เข้ามาลงทุน
 
“ประเทศไทยวันนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เราไม่สามารถขายข้าวเหนียวมะม่วง วิวทะเล หรือยิ้มสยาม ได้เหมือนแต่ก่อน ต้องออกไปเพื่อเสนอให้รู้ว่าไทยมีความพร้อม มีศักยภาพอีกหลายๆ ด้าน หากเราไม่ทำอะไร บริษัทยักษ์ใหญ่ก็จะไปลงทุนที่ประเทศเพื่อนบ้านหมด ไทยจะเสียโอกาส ทำให้ลูกหลานเก่งๆ ต้องไปทำงานที่ประเทศเพื่อนบ้าน เพราะบ้านเราไม่มีงานบริษัทระดับโลกให้ทำ ผมและทีมงานจึงต้องทำงานเชิงรุก ให้บริษัทเหล่านี้กลับมาอยู่กับเราให้ได้” นายพุทธิพงษ์กล่าว
 
ในการเยือนอเมริกาครั้งนี้ ยังได้มีโอกาสหารือกับผู้บริหารระดับสูงของแพลตฟอร์มเครือข่ายดดสังคมออนไลน์ชั้นนำของโลก ได้แก่ เฟซบุ๊ก กูเกิล และยูทูบ เพื่อร่วมมือเรื่องการจัดการข่าวปลอม เนื้อหาและคลิปที่ไม่เหมาะสม สร้างความเสียหายกับประชาชน และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศไทย
 
โดยทางเฟซบุ๊กแจ้งว่าเป็นครั้งแรกที่มีรัฐมนตรีจากประเทศไทยมาเข้าพบ จึงให้ความสำคัญมาก ในการหารือร่วมกับผู้บริหารระดับสูง เฟซบุ๊กได้ตกลงตั้งคณะทำงานระหว่างเฟซบุ๊กและกระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ จัดการเนื้อหาที่เป็นเท็จ มีขั้นตอนในการทำงานร่วมกันอย่างชัดเจน และ timeline กระบวนการแจ้งลบ account ปลอม หรือข้อมูลเท็จ ซึ่งจะทำได้อย่างรวดเร็วขึ้น
 
นอกจากนี้ ยังได้เข้าพบผู้บริหารบริษัท ซิสโก้ ซิสเต็มส์ ณ สำนักงานใหญ่ที่ซิลิกอน วัลเล่ย์ และนำคณะฯ เข้าไปดูระบบรักษาพยาบาลทางไกล (telemedicine) ซึ่งเป็นระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ซึ่งพัฒนามาล่าสุด ออกแบบมาเพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารทั้งภาพและเสียงได้อย่างชัดเจน ทั้งๆ ที่อยู่ห่างไกลกัน ทำให้สามารถพูดคุยกับคนไข้ได้แบบเรียลไทม์
 
“กระทรวงฯ มีโครงการเชื่อมโยงการรักษาพยาบาลประชาชนในพื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนแพทย์ โดยซิสโก้ ให้ความสนใจเรื่องการรักษาพยาบาล อาจรวมกับเชื่อมโยงข้อมูลของผู้ป่วยและวิธีการรักษา ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ห่างไกล ขาดแคลนแพทย์ และมีรายได้น้อย”
 
นอกจากนี้ ยังใช้โอกาสเดินทางเยือนสหรัฐ เป็นเวทีนำเสนอภาพรวมด้านดิจิทัลของประเทศไทย ซึ่งมีแผนพัฒนาเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลของอาเซียน ในพื้นที่ EEC หารือเรื่องการลงทุนในพื้นที่ดิจิทัลพาร์ค โดยประเทศไทยมี Thailand Digital Valley ที่พร้อมเชิญบริษัทยักษ์ใหญ่มาลงทุน
 โดยได้รับการตอบรับอย่างดีจาก นาย Dave Mosley ซีอีโอ และคณะผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ซีเกท ผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ระดับโลก ที่มีฐานผลิตใหญ่สุดในโลกตั้งอยู่ที่ จ.นครราชสีมา ประเทศไทย และมีการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยไทย 10 แห่ง  ได้แก่ ม.สุรนารี ม.ขอนแก่น ม.พระจอมเกล้า ลาดกระบัง ร่วมพัฒนาทักษะนักศึกษาป้อนสู่ตลาดแรงงานดิจิทัล ถือเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ และน่าสนับสนุนให้อุตสาหกรรมต่างๆ ร่วมกันส่งเสริมเรื่องนี้ให้มากยิ่งขึ้น
 
“การเดินทางครั้งนี้ได้รับการตอบรับและสนใจจากผู้บริหารระดับสูงของบริษัทต่างๆ ในสหรัฐ เป็นอย่างดี เนื่องจากเห็นสิทธิประโยชน์จากการลงทุน เพื่อขยายตลาดในไทย โดยเร็วๆนี้ จะมีการลงนามเอ็มโอยู กับบริษัท ไมโครซอฟต์ จำกัด เพื่อลงทุนศูนย์นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์​ (เอไอ) และไอโอที ในประเทศไทย ที่ดิจิทัล วัลเล่ย์ ศรีราชา จังหวัดชลบุรี เราทำงานเชิงรุกเดินทางมาหารือกับบริษัทระดับยักษ์ใหญ่เหล่านี้ด้วยตัวเอง เพื่อรับฟังว่าพวกเขาต้องการอะไร ทางผมและรัฐบาลไทยจะพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นได้ตามยุทธศาสตร์เป้าหมายที่ใช้ดิจิทัลพัฒนาชาติ”
 
สำหรับโครงการและแผนงานสำคัญที่กระทรวงฯ จะผลักดันเป็นอันดับต้นๆ ในปีนี้ ได้แก่ เร่งสร้างโครงข่ายเทคโนโลยี 5G เป็นกลไกรองรับการลงทุน โดยให้นโยบายสองหน่วยงานภายใต้สังกัด คือ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ต้องเข้าร่วมประมูลโครงข่าย 5G ที่สำนักงาน กสทช. จะคลื่นนำออกประมูล ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้  เพราะสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ก่อให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศให้มีความทันสมัย
 
“การสื่อสารผ่านโครงข่ายดิจิทัล ถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากสำหรับประชาชนในทุกวันนี้ และการประมูลโครงข่ายเทคโนโลยี 5G คือประตูสู่การมีเทคโนโลยี 5G ของประเทศไทย ยิ่งประมูลได้เร็ว ก็เท่ากับว่าสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ และเพิ่มการจ้างงาน ให้ทันกับผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งจะทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ 190 บริษัทย้ายฐานออกจากประเทศจีนไปยังประเทศใหม่ ประเทศไทยจึงต้องพร้อมมีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีอย่าง 5G รองรับการลงทุนนี้ ไม่ให้ฐานการลงทุนย้ายไปเป็นประเทศอื่น”
 
อีกทั้ง ยังมีแผนต่อยอดศูนย์ทดสอบ 5G (5G Testbed) ซึ่งนำร่องไว้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา เพื่อเกาะติดโอกาสการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G และหนุนเสริมบทบาทการเป็นหน่วยงานรัฐ ที่เป็น leader ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ในการช่วยขับเคลื่อนนโยบายที่สร้างความ “ทันสมัย-ทั่วถึง-เท่าทัน” ให้กับสังคมไทย
 
ส่วนความคืบหน้าของกระบวนการจัดตั้งบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที ภายหลังจากที่ ครม. มีมติอนุมัติควบรวมทีโอที และ กสท โทรคมนาคม เมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา ทั้งสองรัฐวิสาหกิจ จะเริ่มกระบวนการว่าจ้างที่ปรึกษา 3 ด้าน ได้แก่ ด้านกฎหมาย ด้านการควบรวมกิจการ และด้านทรัพยากรบุคคล ทำการศึกษาเพื่อจัดทำแผนธุรกิจและโครงสร้างการดำเนินการทั้งหมด เพื่อให้การควบรวมแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน