ดีพร้อม จับมือพันธมิตร เดินหน้าเฟ้นหานักออกแบบหน้าใหม่ประดับวงการบรรจุภัณฑ์ไทย

  • ชูแนวคิด “บรรจุภัณฑ์สร้างสรรค์สังคมดี”
  • เพื่อให้อุตสาหกรรมอยู่คู่กับสังคมและชุมชนอย่างเป็นมิตร
  • พร้อมยกระดับเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

นางสุชาดา โพธิ์เจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันยังคงมีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในบริบทต่าง ๆ ของสังคม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ ล้วนส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้หลายอุตสาหกรรมต้องปรับตัว อย่างต่อเนื่องเพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ ทั้งในแง่ของการปรับกระบวนการผลิต พัฒนาระบบการขนส่ง และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ หรือ แพกเกจจิ้ง โดยปัจจุบันการพัฒนาบรรจุภัณฑ์จะต้องคำนึงถึงบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากบรรจุภัณฑ์พลาสติก โฟม และอื่น ๆ ที่ย่อยสลายได้ยาก ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน สภาพอากาศแปรปรวน ภัยพิบัติและมลภาวะที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ ทำให้ทุกคนเกิดความตระหนักที่จะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การออกแบบหรือเลือกใช้บรรจุภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ จึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้ ทำให้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมเข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยมีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์ตามเทรนด์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการสนับสนุนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมให้เข้าถึงเทคโนโลยีในการผลิตบรรจุภัณฑ์คุณภาพมากขึ้น ภายใต้แนวคิด “อุตสาหกรรมดี อยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน” ติดปีกภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม เทคโนโลยี เพื่อให้อุตสาหกรรมอยู่คู่กับสังคมและชุมชนอย่างเป็นมิตรพร้อมยกระดับเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

สำหรับการประกวดในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “บรรจุภัณฑ์สร้างสรรค์สังคมดี” (Good Together) เพื่อสะท้อนถึงกระแสความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเวทีโลก ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ความหลากหลาย (Diversity) และเท่าเทียม (Equality) อีกทั้ง สังคมโลกในปัจจุบันเปิดกว้างและให้การยอมรับในความแตกต่างของมนุษย์มากขึ้นกว่าในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งความแตกต่างทางเพศ อายุ และร่างกาย ซึ่งทำให้วิถีชีวิตและมุมมองของประชากรโลกเปลี่ยนแปลงไป อันจะนำไปสู่การปรับตัวของรูปแบบสินค้าและบริการ ตลอดจนพฤติกรรมการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในปัจจุบัน โดยในปีนี้ได้เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา บริษัท หน่วยงาน และผู้ประกอบการเข้าร่วมนำเสนอผลงาน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) ประเภทนักเรียน – นักศึกษา ประกอบด้วย ต้นแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการจัดจําหน่าย สําหรับสินค้าทั่วไป (Student – Consumer Package (Prototype)) : SC และต้นแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง สําหรับสินค้าทั่วไป (Student – Transportation (Prototype)) : ST และ 2) ประเภทบริษัท – หน่วยงาน และผู้ประกอบการ ประกอบด้วย บรรจุภัณฑ์เพื่อการจัดจําหน่าย สําหรับสินค้าทั่วไป (Consumer Package) : CP และบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง สําหรับสินค้าทั่วไป (Transportation Package) : TP นอกจากนี้ ยังได้มีรางวัลการออกแบบบาร์โค้ดบนบรรจุภัณฑ์ โดยสถาบันรหัสสากลและรางวัลบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“การประกวดในปีนี้หลังจากการปิดรับสมัคร พบว่า มีผู้สนใจเข้าร่วมการนำเสนอผลงานประกวดฯ จำนวนทั้งสิ้น 226 ผลงาน โดยในปีนี้มีเงินรางวัลให้ชิงรวมมูลค่ากว่า 250,000 บาท พร้อมทั้งผู้ชนะการประกวดจะได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยไปประกวดในระดับนานาชาติ ทั้งในระดับภูมิภาคเอเชีย (AsiaStar Awards) และระดับโลก (WorldStar Awards) ทั้งนี้ การประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย ประจำปี 2565 ที่ผ่านมา สามารถเฟ้นหานักออกแบบไทยที่มีความคิดสร้างสรรค์และไอเดียสุดเจ๋ง เพื่อไปอวดโฉมในเวทีระดับโลกและคว้ารางวัลจากการประกวดบรรจุภัณฑ์ระดับเอเชีย (AsiaStar Awards 2022) จำนวน 35 รางวัล ซึ่งจัดโดยสหพันธ์การบรรจุภัณฑ์แห่งเอเชีย (Asian Packaging Federation : APF) นับเป็นประเทศที่ได้รับรางวัลมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย และได้รับรางวัลจากการประกวดบรรจุภัณฑ์ระดับโลก (WorldStar Packaging Awards) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รวมจำนวนทั้งสิ้น 19 รางวัล”