ดาวโจนส์ลดลงเล็กน้อยใกล้ 40 จุด รอทิศทางดอกเบี้ย ปิดงบบัญชีไตรมาส 2

  • ดาวโจนส์เคลื่อนไหวไม่มาก นักลงทุนรอทิศทางเศรษฐกิจ การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
  • ตลาดยังรอการปิดงบดุลบัญชีช่วงสิ้นสุดไตรมาส 2 และครึ่งปีแรกของปี 2566
  • นักลงทุนมองเฟดยังขึ้นดอกเบี้ยต่อในการประชุมเดือน ก.ค.แต่เสียงเริ่มแตกว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในปีนี้หรือไม่

เมื่อเวลาประมาณ 22.10 น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์เคลื่อนไหวที่ระดับ 33,688.19 จุด ลดลง
เล็กน้อย 39.24 จุด หรือ -0.12% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่ 13,472.57 จุด ลดลง 19.94 จุด หรือ -0.15%
ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เคลื่อนไหวที่ระดับ 4,343.89 จุด ลดลง 4.44 จุด หรือ -0.10%

ดัชนีดาวโจนส์วันแรกของสัปดาห์สุดท้ายในเดือนมิ.ย. ลดลงเล็กน้อย รอการปิดงบดุลบัญชีช่วงสิ้นสุดไตรมาส 2 และครึ่งปีแรกของปี 2566

ทั้งนี้ หลังการกล่าวถ้อยแถลงต่อสภาคองเกรสในสัปดาห์ที่แล้ว ของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ย้ำว่าเฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และส่งสัญญาณว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง สู่ระดับ 5.50-5.75% ภายในสิ้นปีนี้ นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียง 1 ครั้งในปีนี้ ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า

FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 71.9% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 25-26 ก.ค. และให้น้ำหนักเพียง 28.1% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25%

อย่างไรก็ตาม FedWatch Tool ยังบ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือนก.ย., พ.ย. และธ.ค. ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนม.ค.2567

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลง ขณะที่นักลงทุนจับตาเงินเฟ้อสหรัฐเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

นักลงทุนจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันศุกร์ โดยดัชนีดังกล่าวเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ ซึ่งสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)