ดาวโจนส์ร่วงกว่า 100 จุด นักลงทุนเทขายหลังราคาหุ้นดีดตัวต่อเนื่อง กังวลเงินเฟ้อพุ่ง

.นักลงทุนเทขายหุ้น หลังกังวลเงินเฟ้อกลับมาสูงขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
.ตลาดติดตามการประชุมเฟดในวันนี้และพรุ่งนี้ เพื่อดูท่าทีดอกเบี้ย
.หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีมีแรงซื้อกลับ หลังตัวเลขค้าปลีกออกมาดีน้อยกว่านักวิเคราะห์คาด

เมื่อเวลา 22.25น. ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวที่ระดับ 32,829.76 จุด ลดลง
123.70 จุด หรือ -0.38% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่ 13,615.14 จุด เพิ่มขึ้น 155.43 จุด หรือ +1.15%
ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 อยู่ที่ระดับ 3,977.44 ขุด เพิ่มขึ้น 8.50 จุดหรือ +0.21%


นักลงทุนเทขายหุ้นเพื่อลดความเสี่ยง หลังราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 7 วันที่ผ่านมา โดยดัชนีราคานำเข้าดีดตัวขึ้นมากกว่าคาดในเดือนก.พ. ทำให้มีการคาดการณ์อีกครั้งว่าอัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นในปีนี้


กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวขึ้นมากกว่าคาดในเดือนก.พ. โดยดีดตัวขึ้น 1.3% เมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเพิ่มขึ้นเพียง 1.2%เมื่อเทียบรายปี ดัชนีราคานำเข้าพุ่งขึ้น 3.0% ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2555 หลังจากเพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนม.ค. ทั้งนี้ ดัชนีราคานำเข้าได้รับแรงหนุนจากการดีดตัวขึ้นของราคาอาหาร, น้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์


นอกจากนี้ ตลาดยังคงมีความกังวลภาวะเงินเฟ้อที่จะตามมาจากการที่สหรัฐใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ


นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันนี้และพรุ่งนี้ เพื่อดูท่าทีของเฟดเกี่ยวกับแนวโน้มการดีดตัวขึ้นของเงินเฟ้อที่เป็นผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ รวมทั้งการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ


ทั้งนี้ นางเซซิเลีย เราส์ ประธานที่ปรึกษาเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาว กล่าว ยอมรับว่าอาจมีความเสี่ยงเล็กน้อยที่จะเกิดเงินเฟ้อจากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโจ ไบเดน


“ใช่ มีความเสี่ยงเล็กน้อยที่จะเกิดเงินเฟ้อ ซึ่งเรากำลังจับตาดูอยู่ โดยการลงทุนทางเศรษฐกิจใดๆก็ตาม จะทำให้เกิดความเสี่ยงในบางด้านเสมอ แต่ความเสี่ยงที่ใหญ่กว่านั้นคือ การที่เราไม่ได้ทำในสิ่งที่เพียงพอเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ”


อย่างไรก็ตาม อีกทางหนึ่งยอดค้าปลีกลดลงมากกว่าคาดในเดือนก.พ.ทำให้เกิดความกังวลในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเช่นกัน โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกดิ่งลง 3.0% ในเดือนก.พ. หลังจากพุ่งขึ้น 7.6% ในเดือนม.ค. มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่ายอดค้าปลีกลดลงเพียง 0.5% ในเดือนก.พ.


ส่วนยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหาร ดิ่งลง 3.5% ในเดือนก.พ. หลังจากพุ่งขึ้น 8.7% ในเดือนม.ค.
โดยยอดค้าปลีกที่ลดลงดังกล่าว สอดคล้องกับข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รายงานในวันนี้ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐลดลง 2.2% ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.ย.2563 และสวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3% หลังจากเพิ่มขึ้น 1.1% ในเดือนม.ค. โดยการร่วงลงของการผลิตภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่หนาวจัดในสหรัฐ


สำหรับการผลิตของภาคโรงงานลดลง 3.1% ในเดือนก.พ. ขณะที่ภาคเหมืองแร่ดิ่งลง 5.4% แต่ภาคสาธารณูปโภคดีดตัวขึ้น 7.4%