ดาวโจนส์ปิดลบ 96 จุด ขายลดความเสี่ยงรอทิศทางดอกเบี้ย

  • นักลงทุนจับตาตัวเลขเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อ หาทิศทางดอกเบี้ย และเศรษฐกิจในอนาคต
  • เจ้าหน้่าที่เฟดชี้ อัตราเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไปเป็นเครื่องชี้สำคัญในการลดหรือคงดอกเบี้ย
  • ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงในเดือน ก.พ.หลังดีขึ้นต่อเนื่อง 3 เดือน

นักลงทุนรอการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อและข้อมูลเศรษฐกิจอื่น ๆ ของสหรัฐซึ่งอาจบ่งชี้กำหนดเวลาที่เป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง

ดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาดวันที่ 27 ก.พ.ที่ 38,972.41 จุด ลดลง 96.82 จุด หรือ -0.25%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,078.18 จุด เพิ่มขึ้น 8.65 จุด หรือ +0.17% ขณะที่ตลาดหุ้นแนสแด็ก คอมโพซิส ปิดที่ 16,035.30 จุด เพิ่มขึ้น 59.05 จุด หรือ +0.37%

ตลาดหุ้นสหรัฐไม่คึกคัก นักลงทุนเทขายหุ้นลดความเสี่ยง รอตัวเลขข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐสำคัญซึ่งอาจบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่จะทยอยประกาศออก รวมทั้งทิศทางของบริษัทจดทะเบียน ที่ส่วนใหญ่เปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 4/2566 ออกมาแล้ว

ตลาดรอการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนม.ค.ในวันพฤหัสบดีนี้ โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

ทั้งนี้ หากข้อมูล PCE บ่งชี้ถึงภาวะเงินเฟ้อ ก็อาจจะทำให้เฟดตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงในปัจจุบันต่อไปนานกว่าที่ตลาดคาดไว้ นอกจากนั้น ตลาดยังรอดูข้อมูลการขยายตัวของเศรษฐกิจ ตลาดแรงงาน จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน และกิจกรรมการผลิต

ส่วนข้อมูลล่าสุดที่ประกาศออกมาเมื่อวาน ผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจที่เปิดเผยในวันอังคารระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงในเดือนก.พ. หลังจากดีดตัวขึ้นติดต่อกัน 3 เดือน ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับตลาดแรงงาน และปัจจัยทางการเมืองในสหรัฐ โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 106.7 ในเดือนก.พ. จากระดับ 110.9 ในเดือนม.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 115.0

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ดิ่งลง 6.1% ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2563 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่า อาจลดลง 4.5% หลังจากปรับตัวลง 0.3% ในเดือนธ.ค. และเมื่อเทียบรายปี ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนลดลง 0.8% ในเดือนม.ค.

นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธนาคารธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่จะแถลงต่อสภาคองเกรส ในช่วงต้นเดือน มี.ค.

ขณะที่นายเจฟฟรีย์ ชมิด ประธานเฟดสาขาแคนซัสซิตีแสดงความเห็นเมื่อวันจันทร์ว่า เขายังคงให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่ระดับสูงและไม่เร่งรีบที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ส่วนนางมิเชล โบว์แมน ผู้ว่าการเฟดกล่าวว่า เธอไม่รีบที่จะลดอัตราดอกเบี้ย เมื่อพิจารณาจากความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ

เครื่องมือ FedWatch tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า มีโอกาส 59.1% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 0.25% ในการประชุมเดือนมิ.ย.ปีนี้

อย่างไรก็ตาม หุ้นแอปเปิ้ล บวก 0.81% หลังบลูมเบิร์ก นิวส์รายงานว่า แอปเปิ้ลได้ยกเลิกการดำเนินงานด้านรถยนต์ไฟฟ้า โดยย้ายพนักงานบางส่วนไปทำงานในโครงการด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ขณะที่หุ้นไวกิง เทราพิวติกส์ พุ่งขึ้น 121.02% หลังจากผลการทดลองขั้นกลางบ่งชี้ว่า ยาของบริษัทเพื่อรักษาโรคอ้วนนั้นได้ช่วยให้ผู้ป่วยลดน้ำหนักลงได้อย่างมีนัยสำคัญ