ซูเปอร์โพลเผย คนส่วนใหญ่กังวลวิกฤต โควิด สงคราม”ยูเครน-รัสเซีย”ยืดเยื้อ

  • 87.7% ระบุโควิดกระทบเศรษฐกิจ
  • ส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตใจ
  • สงครามทำต้นทุนด้านพลังงานพุ่ง

วันที่ 3 เมษายน 2565 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อํานวยการสํานักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสํารวจ เรื่อง ความกังวล และ ผลกระทบต่อคนไทย จาก วิกฤตการณ์ของโลก กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพ ทั่วประเทศโดยดําเนินโครงการวิจัยแบบผสมผสานทั้งเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จํานวน 1,113 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม – 2 เมษายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา

เมื่อถามถึง ผลกระทบต่อคนไทยจากวิกฤตโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.7 ระบุ มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลก และร้อยละ 86.3 ระบุ มีส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตใจของคนไทย นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.2 ระบุ มีผลกระทบต่อการจ้างงาน ตกงาน ลดเงินและทําให้รายได้ลด ร้อยละ 85.7 ระบุ มีผลกระทบต่อกลุ่มอาชีพที่ต้องสูญหายไปในช่วงวิกฤตโควิด และร้อยละ 85.6 ระบุ ทําให้การใช้ชีวิตยากลําบากขึ้น เช่น มีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ต้องซื้ออุปกรณ์เพื่อดูแลรักษาสุขภาพ

ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อถามถึง ผลกระทบต่อคนไทยจากวิกฤตการณ์สู้รบยูเครน กับ รัสเซีย พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.6 ระบุ ต้นทุนด้านพลังงานและอื่น ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น น้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซ ทองคํา เป็นต้น ร้อยละ 85.5 ระบุ มีผลกระทบทําให้ค่าครองชีพในหลายประเทศเพิ่มขึ้น ร้อยละ 85.1 ระบุ สินค้าอุปโภคบริโภคสินค้าและต้นทุนการผลิตด้านการเกษตร ปุ๋ยอาหารสัตว์ สูงขึ้นและสินค้าราคาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 79.3 ระบุ ต้นทุนการผลิตที่อาศัยการส่งออกและนําเข้าจากประเทศรัสเซีย และยูเครนเพิ่มขึ้น และร้อยละ 78.7 ระบุ การสู้รบทางทหารระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและหลายประเทศการรับรู้ของประชาชน ต่อ ความเข้าในสถานการณ์ ต่อผลกระทบจากทั้งวิกฤตโควิด และ การสู้รบรัสเซียกับ ยูเครน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.8 ระบุ กังวลว่าสถานการณ์วิกฤตการณ์ทั้งสองจะยืดเยื้อ ร้อยละ 79.2 ระบุ กลัวความไม่มั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินทั้งการงานการเงินสุขภาพและคุณภาพชีวิตการดํารงอยู่ของชีวิตการใช้ชีวิตตามปกติ ร้อยละ 72.4 ระบุ กังวลและกลัวประชาชนในประเทศไม่อยู่ในมาตรการควบคุมโรคของโควิด ร้อยละ 70.3 ระบุ กังวลถึงการเล่นสงครามทางการเมืองภายในประเทศ ของนักการเมืองต่าง ๆ ร้อยละ 67.1 ระบุกังวลและกลัวความเห็นต่าง ท่าทีของไทยในเวทีโลก จะถูกขยายผลความขัดแย้งภายใน กระทบผลประโยชน์ของชาติ และร้อยละ 67.1 ระบุ กลัวการเกิดความรุนแรงทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ กลัวการสู้รบทางทหาร

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชน ต่อทางออกในสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.4 ระบุ ใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเคร่งครัดต่อเนื่อง คือ ทางอออกทุกวิกฤต รองลงมาคือ 77.5 ระบุ ประชาชนมีความเข้าใจถึงสถานการณ์วิกฤตินี้เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่แต่ประเทศไทย ร้อยละ 73.6 ระบุ เข้าใจว่าสถานการณ์แบบนี้ไม่ควรโทษหรือกล่าวหาใคร ร้อยละ 73.2 ระบุ เข้าใจต่อความพยายามในการช่วยเหลือเยียวยาพยุงค่าครองชีพลดภาระในระยะสั้น ร้อยละ 70.2 ระบุ รับรู้ว่ามาตรการช่วยเหลือเยียวยาด้านโควิดของรัฐบาล มีส่วนบรรเทาความเดือดร้อนในระยะสั้น ร้อยละ 69.4 ระบุ รับรู้และเข้าใจว่าระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ได้รับการยอมรับด้านการจัดการและการดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างดี ร้อยละ 68.6 ระบุเข้าใจสถานการณ์บทบาทการวางตัวเป็นกลางของรัฐบาลและเห็นด้วยกับการรักษาประโยชน์ไม่เป็นคู่ขัดแย้ง

ผลสํารวจนี้สะท้อนให้ทราบว่า ประชาชนส่วนใหญ่รับรู้และเข้าใจถึงสถานการณ์โรคระบาดและสงครามที่เกิดขึ้น มีผลกระทบกับทุกประเทศ มิใช่เฉพาะไทย โดยต่างได้รับผลกระทบทั้งด้านจิตใจและร่างกาย ความสุขและคุณภาพชีวิตในภาพรวม อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่พอใจกับท่าทีและนโยบายการวางตัวเป็นกลางของรัฐบาล ที่ไม่โดดเป็นคู่ขัดแย้งในสงคราม ซ้ําเติมวิกฤตเศรษฐกิจช่วงโควิดที่เกิดขึ้น และพอใจกับโครงสร้างของระบบสาธารณสุขไทยที่เข้มแข็ง สามารถดูแลส่วนรวมได้ดีกว่าหลายประเทศ

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า ส่วนใหญ่รับทราบถึงความพยายามและมาตรการช่วยเหลือระยะสั้นจากรัฐบาลที่ผ่านมา ในการบรรเทาความดือดร้อนและช่วยเหลือค่าครองชีพที่จําเป็น ที่สําคัญ ยังกังวลกับความยืดเยื้อของสงครามและโรคระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การละเลยการ์ดตกในมาตรการควบคุมโรคของประชน และการที่ฝ่ายการเมือง นําเรื่องละเอียดอ่อนไปสร้างคะแนนนิยม ขยายผลจนกระทบเอกภาพและผลประโยชน์ของชาติได้

ทั้งนี้ ความตระหนักรู้ เข้าใจและมีส่วนร่วมของทุกคน บนผลประโยชน์ชาติ เป็นเรื่องสําคัญ ที่เราทุกคนจําเป็นต้องอยู่บนความพอเพียง เพื่อจะผ่านสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นไปด้วยกัน