ชาวกรุงสบายใจได้… โฆษก กทม. ลั่นยังไม่พบคลัสเตอร์ใหญ่ระบาด พร้อมสั่งเฝ้าระวัง เดินหน้าฉีดวัคซีนเต็มสูบ!

ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ว่า อยู่ในภาวะทรงตัว โดย กทม.ได้ดำเนินการตรวจเชิงรุกราววันละ 4,000 ราย โดยพบผู้ติดเชื้ออยู่ในอัตรา 1-2% โดยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยในช่วง 7 วันที่ผ่านมา อยู่ที่ 647 ราย

“ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อเพียง 1-2% ไม่สูงเหมือนช่วงก่อนหน้านี้ที่พบราว 10% แต่ก็ไม่ประมาท มีการเฝ้าระวังการติดเชื้อในชุมชนที่มีการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ และร้านอาหารที่มีการขายแอลกอฮอล์ โดยยังไม่พบการเกิดคลัสเตอร์ใหญ่” ร.ต.อ.พงศกร

ทั้งนี้หากผลตรวจหาเชื้อด้วย ATK ออกมาเป็นบวก หรือมีอาการแต่ผลบวกเป็นลบ จะตรวจซ้ำด้วยระบบ RT-PCR เพื่อยืนยันแล้วรับตัวเข้าระบบรักษาทันที

สำหรับการเตรียมความพร้อมนั้น เบื้องต้น กทม.จัดเตรียมเตียงรองรับผู้ป่วยไว้ 10,000 เตียง โดยปัจจุบันมีอัตราการครองเตียงอยู่ที่ 18.59% หรือราว 1,800-1,900 ราย และสามารถเพิ่มเตียงได้หากมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ขณะที่มีการจัดเตรียมสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีนไว้ 129 แห่ง และกำลังเจรจาที่จะจัดจุดให้บริการในห้างสรรพสินค้าบางแห่ง โดยเน้นการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรือเข็ม 3 ซึ่งฉีดไปแล้ว 25% และประชาชนสามารถลงทะเบียนจองผ่านแอปพลิเคชั่น QueQ ได้

“เราจัดเตรียมความพร้อมรับ worst case หลังมีข่าวการระบาดรุนแรงในต่างประเทศ อย่างอังกฤษที่เคยมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 3 เท่าตั้ว จากวันละ 8 แสนราย มาเป็น 2.4 แสนราย แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการก็จะใช้ระบบ Home Isolation หรือ Community Isolation ไม่ต้องมาเข้า รพ.เพื่อแบ่งเบาภาระระบบสาธารณสุข จะได้ให้บุคลากรทางการแพทย์ไปช่วยงานอย่างอื่น” ร.ต.อ.พงศกร กล่าว

ร.ต.อ.พงศกร กล่าวต่อถึงกรณีคลัสเตอร์แคมป์ก่อสร้างที่เป็นปัญหาก่อนหน้านี้ ปัจจุบันเหลือพื้นที่เฝ้าระวังแค่ 3 แห่งซึ่งไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิน 14 วันแล้ว หลังจากมีมาตรการควบคุมอย่างรัดกุม เช่น ห้ามญาติเข้ามาเยี่ยม, ห้ามรถพุ่มพวงเข้าพื้นที่ และมีการฉีดวัคซีนให้กับแรงงานครบทุกคน ส่วนกรณีร้านอาหารกึ่งผับที่จะเปิดให้บริการนั้นต้องยื่นขออนุญาตและผ่านเกณฑ์ SHA++ และ Thai Stop Covid++ ภายในวันที่ 15 ม.ค.นี้ก่อนจึงจะเปิดให้บริการได้

“ร้านอาหารทั่วไปไม่น่าห่วงเท่าร้านที่เปิดขายแอลกอฮอล์ เพราะต้องใช้เวลามากขึ้น ที่ผ่านคลัสเตอร์ร้านอาหารลดลงเพราะมีข้อกำหนดให้พนักงานทุกคนต้องฉีดวัคซีน ห้ามเต้น ให้เว้นระยะห่าง ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มาใช้บริการติดเชื้อกันเอง” โฆษก กทม.กล่าว

สำหรับมาตรการล็อกดาวน์ที่มีการประกาศใช้ก่อนหน้านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการเคลื่อนย้ายที่จะทำให้มีการแพร่รระบาดเพิ่มมากขึ้น แต่ขณะนี้ประชาชนได้รับวัคซีนเพิ่มมากขึ้น ทำให้จำนวนผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตมีแนวโน้มลดลงขณะนี้อยู่ระหว่างการเฝ้าระวัง การตัดสินใจประกาศใช้มาตรการเพิ่มเติมขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์จากคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจะพิจารณาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ส่วนการฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุ 5-11 ปีนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจความต้องการจากผู้ปกครอง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะมีการประชุมสรุปความคืบหน้าในอีก 1-2 วันนี้ และมีข่าวว่านอกเหนือจากวัคซีนชนิด mRNA แล้ว ยังจะมีวัคซีนเชื้อตายให้เลือกสำหรับผู้ปกครองที่ไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัยของบุตรหลานด้วย

ด้าน พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวว่า ต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนว่าปัจจุบันการตรวจหาเชื้อด้วย ATK มีประสิทธิภาพและรู้ผลในเวลาที่รวดเร็ว หากใช้วิธี RT-PCR จะใช้เวลานาน และใช้ตรวจซ้ำเพื่อยืนยันผลเท่านั้น ซึ่งเป็นแนวโน้มในช่วงที่จะเปลี่ยนผ่านจากโรคระบาดไปเป็นโรคประจำถิ่น หลังสถานการณ์โรคมีความรุนแรงลดลง โดยประชาชนสามารถดูแลรักษาตัวเองได้ และไม่สร้างภาระต่อระบบสาธารณสุข

“เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านหลังสถานการณ์โรครุนแรงลดลง ประชาชนสามารถดูแลตัวเองได้ ถ้าประชาชนยังไม่เข้าใจก็จะทำให้ระบบสาธารณสุขเกิดปัญหาได้”

พญ.ป่านฤดี กล่าวด้วยว่า การรักษาด้วยระบบ Home Isolation (HI) หรือ Community Isolation (CI) จะมี โรงพยาบาลในสังกัดและเครือข่าย 222 แห่งให้การดูแล โดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หากมีอาการรุนแรงก็จะมีแพทย์ประเมินสถานการณ์เพื่อรับตัวเข้าไปดูแลในโรงพยาบาล