ฉุดไม่อยู่!! เงินเฟ้อเดือนมิถุนายน65 พุ่ง 7.66% สูงต่อเนื่องในรอบ 13 ปี

  • ปัจจัยหลักราคาพลังงานสูง
  • ทั้งนี้น้ำมัน-ก๊าซหุงต้ม-ค่าไฟฟ้า
  • สนค. ประเมินเงินเฟ้อทั้งปี 65 คงเดิม 4.5%

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทย (CPI) เงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2565 เท่ากับ 107.58 สูงขึ้น 1.40% เมื่อเทียบจากเดือนที่ผ่านมา และสูงขึ้น 7.66% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการสูงขึ้นต่อเนื่อง เงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นผลมาจากราคาพลังงานเป็นส่วนใหญ่และยังคงมีราคาสูงขึ้น ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ซึ่งมีสัดส่วน 61.83% ที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อขยายตัว

สำหรับราคาอาหารส่งผลกระทบไม่มากเพราะมีการปรับขึ้นราคามาตั้งแต่เดือนที่ผ่านมาแล้ว ขณะที่ มาตรการของภาครัฐมีมาตรการลดค่าครองชีพช่วยเหลือประชาชน นอกจากนี้ ประกอบกับผู้ประกอบการภาคเอกชนได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการตรึงราคาขายปลีกเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อค่าครองชีพของประชาชน

ส่วนเงินเฟ้อไตรมาสที่ 2 ปี 2565 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 6.46% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สูงขึ้น 1.18% และเฉลี่ย 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 5.61% แต่ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบจากทั่วโลก

นายรณรงค์  กล่าวต่อว่า สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น กระทบต่อเงินเฟ้อสูงขึ้น เช่น กลุ่มพลังงาน มีอัตราการเติบโตของราคา 39.97% จึงส่งผลให้พลังงานมีสัดส่วนถึง 61.83% ของอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ ทั้งนี้ สินค้ากลุ่มพลังงานประกอบด้วย น้ำมันเชื้อเพลิง มีอัตราการเติบโตของราคา 39.45% ค่าไฟฟ้า 45.41% และราคาก๊าซหุงต้ม 12.63% กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีอัตราการเติบโตของราคา 6.42%

ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อไตรมาสที่ 3 ปี 2565 ยังมีแนวโน้มขยายตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่ทั้งนี้ ก็ยังไม่สามารถประเมินได้อย่างชัดเจน เนื่องจากยังมีหลายปัจจัยที่ต้องติดตามทั้งสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาพลังงาน เศรษฐกิจโลก การส่งออก การท่องเที่ยว รวมไปถึงสถานการณ์โควิด-19 อย่างไรก็ตาม สนค. ยังคงประมาณการณ์เงินเฟ้อทั้งปีคงตัวเลขเดิม คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อทั่วไปของไทย ปี 2565 จะเคลื่อนไหวในกรอบ 4.0 – 5.0%