ฉลาดซื้อ เปิดผลสำรวจ “รถยนต์ไฟฟ้า” แนะรัฐควรให้ข้อมูลมากขึ้น

นิตยสารฉลาดซื้อ เผยผลสำรวจรถยนต์ไฟฟ้า พบร้อยละ 85.5 บอกว่าภาครัฐควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้ากับประชาชนให้มากขึ้น

  • ไม่ทราบว่ารถยนต์ไฟฟ้ามี 4 ประเภท
  • ไม่ทราบว่าวิธีการชาร์จไฟรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามี 3 รูปแบบ
  • ไม่ทราบว่ากรมการขนส่งทางบกให้การลดหย่อนภาษีประจำปี

วันนี้  ( 31 ธันวาคม 2566 ) นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็น บ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  สำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ 1,125 คน* เรื่องความรู้พื้นฐานและความคิดเห็นเกี่ยวกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ในระหว่างวันที่ 25 – 30 เมษายน ที่ผ่านมา  โดยพบว่ากลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 64.9 เชื่อว่าไทยมีความพร้อมสำหรับผู้ใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และยังพบว่า ร้อยละ 64.7 คิดว่าราคาของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่จำหน่ายในประเทศไทยในปัจจุบันมีความเหมาะสมดีแล้ว และคนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 83.8) เห็นด้วยว่ามาตรการลดหย่อนภาษีสรรพสามิตสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าจาก 8% เหลือ 2% ของภาครัฐ สามารถส่งเสริมให้คนซื้อรถยนต์อีวีมาใช้งานมากขึ้น  

ในแง่ของสิ่งแวดล้อม มีถึง ร้อยละ 85.8 ที่เห็นด้วยว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และปริมาณ PM2.5 ในอากาศได้  ขณะเดียวกันเราพบว่ามีเรื่องที่ผู้บริโภคยังไม่ชัดเจนหลายเรื่อง เช่น  กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 59.8 ไม่ทราบว่ารถยนต์ไฟฟ้ามี 4 ประเภท (ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด หรือ HEV Hybrid Electric Vehicle / รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด หรือ PHEV Plug-in Hybrid Electric Vehicle / รถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง FCEV Fuel Cell Electric Vehicle / รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี หรือ BEV Battery Electric Vehicle)     ร้อยละ 61.5 ไม่ทราบว่าวิธีการชาร์จไฟรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามี 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. Quick Charger ในสถานีอัดประจุไฟฟ้า 2. Normal Charger แบบเครื่องชาร์จ Wall Box และ 3. Normal Charger แบบต่อจากเต้ารับในบ้าน   ร้อยละ 60.5 ไม่ทราบว่ากรมการขนส่งทางบกให้การลดหย่อนภาษีประจำปี สำหรับรถประเภท BEV (รถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าอย่างเดียว)  ร้อยละ 57.4 ไม่ทราบว่าระยะเวลารับประกันแบตเตอรีโดยผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจำกัดอยู่ที่ประมาณ 8 ปี   

ทั้งนี้คนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 85.5) มองว่าภาครัฐควรให้ข้อมูลด้านรถยนต์พลังงานไฟฟ้ากับประชาชนผ่านหน่วยงานของรัฐให้มากขึ้น  ความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามเรื่องข้อจำกัดของรถอีวี และความพร้อมของสถานีชาร์จ    ร้อยละ 86.4 เห็นด้วยว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาแตกต่างจากรถยนต์ทั่วไป  ร้อยละ 73.3 เห็นด้วยว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีข้อจำกัดเรื่องระยะทางในการขับขี่   ร้อยละ 72.2 เห็นด้วยว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีข้อจำกัดในการขับขี่บนถนนที่มีน้ำท่วมขัง  ร้อยละ 64.6 เชื่อว่าปัจจุบันมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพียงพอ 

นอกจากนี้  ปรากฎการณ์อีวีหรือยานยนต์พลังงานไฟฟ้ากำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ในปี 2565 ยอดขายรถอีวีอยู่ที่ประมาณ 10.2 ล้านคัน เทียบกับสามล้านคันเมื่อสามปีก่อนหน้า ปัจจุบันในบรรดารถยนต์ที่จำหน่ายออกไปทุกๆ 20 คัน จะมี 3 คันที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า และองค์การพลังงานระหว่างประเทศยังคาดการณ์ไว้ว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าของปี 2566 จะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 14 ล้านคัน    ในจำนวน 10.2 ล้านคันที่ว่านั้น หากแยกออกมาดูจะพบว่า 5.9 ล้านคันคือยอดขายในประเทศจีน ตามด้วย 990,000 คัน ในสหรัฐอเมริกา อันดับถัดมาคือเยอรมนี (830,000 คัน) และอังกฤษ (370,000 คัน) ในขณะที่เกาหลีใต้เข้ามาเป็นอันดับ 8 ด้วยยอดขาย 131,000 คัน  

 อ.ชัยภวิศร์ ธวัชชัยนันท์ เคริอข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค กล่าวกับฉลาดซื้อว่า  เรื่องนี้ฝรั่งคุยกันเยอะ เขาทำก่อนเรา เห็นปัญหาก่อนเรา เพราะฉะนั้นแบตเตอรี่ตอนนี้มีหลายชนิดและกำลังปรับอยู่เรื่อยๆ กระบวนการจัดการของเสียที่จะเกิดขึ้นถูกเอาไปรียูสได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องดูให้ครบ life cycle ว่าจะเอากลับไปใช้ใหม่ได้กี่รอบ กี่ครั้ง และถึงจุดที่ต้องถูกทำลายจะทำยังไง ต้องบอกว่าบ้านเราการจัดการของเสียพวกนี้ยังด้อยมากๆ แต่ไม่ใช่แค่แบตรถไฟฟ้าอย่างเดียว แต่เป็นของเสียอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดยังไร้ประสิทธิภาพ ไม่มีการพูดคุย และยังผลักภาระเป็นของสาธารณะ ไม่ใช่ของผู้ประกอบการ  

“ รัฐอาจออกมาตรการสนับสนุนหรือสร้างแรงจูงใจให้การผลิตและใช้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นได้ เช่น ส่งเสริมการใช้วัสดุที่มาจากการรีไซเคิ้ล การรับจัดการแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพแล้วของผู้ประกอบ หรือตู้ชาร์จไฟฟ้าที่ใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น  อย่างไรก็ตาม รถยนต์ไฟฟ้าเป็นนวัตกรรมที่ยังคงมีพลวัตต่อเนื่อง ผู้ใช้หรือผู้ที่กำลังคิดจะซื้อควรศึกษาข้อมูลข่าวสารให้ละเอียดรอบคอบ ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลก็ได้เวลาต้องปรึกษาหารือว่าจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลักสำคัญ”