“จุรินทร์” เผยเงินเฟ้อไทยเดือนพ.ค.ส่อโตแค่ 0.5%

  • หลังราคาน้ำมัน-สินค้าอุปโภคบริโภค-อาหารสดลด
  • แต่สินค้าเกษตรราคาดีลั่นเป็นปีทองอีกปีของสินค้าเกษตร
  • ทำภาระค่าใช้จ่ายประชาชนลดแต่รายได้เกษตรกรเพิ่ม

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์เงินเฟ้อว่า ตั้งแต่ต้นปี 66 จนถึงปัจจุบัน เงินเฟ้อมีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับ โดยมีแนวโน้มชะลอตัวลง และคาดว่าเดือน พ.ค.66 จะเป็นบวกเพียง 0.5% ทำให้เงินเฟ้อไทยน่าจะต่ำที่สุดในอาเซียน และอยู่ในอันดับไม่เกิน 14-15 จาก 130 กว่าประเทศทั่วโลก และยืนยันเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปี 66 ที่ขยายตัวไม่เกิน 2% ส่วนตัวเลขทางการเดือนพ.ค.66 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) จะแถลงอีกครั้งสัปดาห์หน้า

สำหรับเงินเฟ้อที่ลดลง เป็นผลจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะหมวดอาหาร ที่มีผลกระทบโดยตรงกับผู้บริโภคมาก เช่น หมูเนื้อแดง มีแนวโน้มลดลง ไม่มีสัญญาณสูงขึ้น ขณะนี้ราคาต่ำกว่าราคาโครงสร้างประมาณ 40 บาท/กิโลกรัม (กก.) หรือ 20% ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 145 บาท/กก., ไก่ ราคาต่ำกว่าราคาโครงสร้าง 6-17%, ไข่ไก่ เบอร์ 3 แม้ปรับขึ้นในช่วงนี้ เพราะฤดูร้อน ไก่ออกไข่น้อยและฟองเล็ก แต่ราคาเฉลี่ยยังต่ำกว่าราคาโครงสร้างถึง 16% ส่วนราคาผัก ในภาพรวมสัปดาห์นี้ ลดลงจากสัปดาห์ก่อน เพราะฝนเริ่มมา ผักออกมากขึ้น และกรมการค้าภายในช่วยเชื่อมโยงระบายผักออกสู่ตลาด ราคาผักมีแนวโน้มปรับลดลง

ขณะที่ราคาพืชผลทางการเกษตร อยู่ในเกณฑ์ดีมาก เช่น ข้าวเปลือก ที่ประกันรายได้ ราคาสูงกว่ารายได้ที่ประกันเกือบทุกตัว, มันสำปะหลัง เฉลี่ย 3.35-3.80 บาท/กก. สูงกว่าประกันรายได้ที่ 2.50 บาท/กก. ถือเป็นยุคทองยุคหนึ่งของมันสำปะหลังไทย, ปาล์มน้ำมัน เฉลี่ย 5-5.50 บาท/กก. สูงกว่าประกันรายได้ที่ 4 บาท/กก. และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประมาณ 12 บาท/กก.

สำหรับผลไม้ ปีนี้เป็นปีทอง ราคาสูงมาก โดยเฉพาะภาคตะวันออกที่ปิดฤดูกาลไปแล้ว โดยราคาทุเรียนเกรดส่งออก ปีที่แล้วเฉลี่ย 150 บาท/กก. ปีนี้สูงถึง 187.50 บาท/กก. ทุเรียนตกเกรด ปีที่แล้ว  92 บาท/กก. ปีนี้สูงถึง 120-165 บาท/กก.,  มังคุด เกรดส่งออก ปีที่แล้วเฉลี่ย 140 บาท /กก. ปีนี้เฉลี่ย 170-185 บาท/กก. และราคาปุ๋ย เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.65 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาสูงที่สุด ขณะนี้ราคาปรับลดลง เช่น ยูเรีย ลดลง 50% ปุ๋ยอื่นๆ โดยเฉลี่ย ลดลงประมาณ 30%

“ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับลดลง ขณะที่ราคาพืชผลการเกษตรปรับสูงขึ้น สะท้อนให้เห็นว่ารายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น แต่ภาระค่าใช้จ่ายประชาชนลดลง ส่งผลให้ตัวเลขเงินเฟ้ออยู่ในสถานการณ์ที่ดี ต่ำสุดในอาเซียน และต่ำกว่าหลายประเทศในโลก”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เงินเฟ้อไทยปี 66 ทยอยลดลงมาตั้งแต่เดือนม.ค. โดยเพิ่มขึ้นที่ 5.02% เทียบเดือนม.ค.65 ส่วนเดือนก.พ.66 ชะลอตัวลงมาก เพิ่มขึ้นเพียง 3.79% เทียบเดือนก.พ.65 ขณะที่เดือนมี.ค.66 เพิ่ม 2.83% เทียบเดือนมี.ค.65 และเดือนเม.ย.66 เพิ่ม 2.67% เทียบเดือนเม.ย.65 ส่วนเดือนพ.ค66 คาดเพิ่มขึ้นเพียง 0.5% เทียบเดือนพ.ค.65 ที่อยู่ที่ 7.10% และในปี 65 เงินเฟ้อไทยเริ่มตั้งแต่เดือนพ.ค.-ส.ค. ขยายตัวสูงมากเกิน 7% โดยอยู่ที่ 7.10%, 7.66%, 7.61% และ 7.86% ตามลำดับ เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกทะยานขึ้นมาก ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้า และราคาสินค้าปรับขึ้นมาก และจากนั้นเงินเฟ้อไทยเริ่มทยอยลดลง เพราะราคาน้ำมันเริ่มลดลงจนถึงปัจจุบัน