งัดทุกกลยุทธ์ช่วย… กพช. เคาะนโยบายพลังงานไฟฟ้า ลั่น!ไม่ให้กระทบประชาชน

  • ชูเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศในระยะยาว
  • เผยที่ประชุมเลื่อนแผนการปลดเครื่องโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.68
  • ชี้เป็นอีกแนวทางสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากสถานการณ์ LNG มีราคาสูง
  • เคาะเห็นชอบรับซื้อไฟฟ้า อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ FiT

วันนี้ (22 มิ.ย.65) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ได้รับทราบหลักการร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โครงการปากลาย และโครงการหลวงพระบาง และมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามใน PPA โครงการปากลาย และโครงการหลวงพระบางที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว 

ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องมีการแก้ไข PPA ที่ไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่ระบุไว้ในร่าง PPA และเงื่อนไขสำคัญ รวมทั้งการปรับกำหนดเวลาของแผนงาน (Milestones) ที่เกี่ยวข้องกับกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในช่วงก่อนการลงนามPPA ให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการ กฟผ. ในการแก้ไข

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวต่อว่า ด้วยสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างสหพันธรัฐรัสเซีย และประเทศยูเครนที่ยังไม่มีข้อยุติส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดโลกมีความผันผวนและปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูง จากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของหลายประเทศทั่วโลก 

อีกทั้งปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ได้พึ่งพาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก จึงส่งผลให้ค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าต้องปรับเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยที่ประชุม กพช. จึงได้มีมติเห็นชอบการเลื่อนแผนการปลดเครื่องโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8 – 11 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2568 เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากสถานการณ์ LNG มีราคาสูง ซึ่งจะสามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าได้ 

รวมถึงสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การผลิตก๊าซธรรมชาติของแหล่งเอราวัณ (G1/61) ที่ลดลงในช่วงเปลี่ยนผ่านการให้สัมปทานก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งไม่กระทบต่อเป้าหมายการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของประเทศตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ภายในปี 2573 และมีความสอดคล้องกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) 

ทั้งนี้ที่ประชุมมอบหมายให้ กฟผ. และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องที่ประชุม กพช. ได้รับทราบผลการบริหารอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้า โดยอัตโนมัติ (Ft) ช่วงปี 2563 – ปัจจุบัน ซึ่งมอบหมายให้ กฟผ. ช่วยรับภาระค่า Ft ที่เพิ่มขึ้น โดยชะลอการนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงที่สูงขึ้นตั้งแต่งวดเดือน ก.ย. 2564 – เดือน ธ.ค. 2564 จนถึงปัจจุบัน ที่เรียกเก็บกับประชาชนในระยะนี้ไว้ก่อน เพื่อช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2563 และวันที่ 29 มี.ค. 2565 และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ ครม. รับทราบผลการดำเนินงานตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2563 และวันที่ 29 มี.ค.2565 ต่อไป 

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม กพช. ยังได้มีมติเห็นชอบหลักการการรับซื้อไฟฟ้าและอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) ปริมาณ 100 เมกะวัตต์ ในอัตรา 6.08 บาทต่อหน่วย (ไม่ร่วมอัตรา FiT Premium) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(SCOD) ในปี 2569 โดยที่ประชุมมอบหมายให้ กกพ. ดำเนินการออกระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ FiT รวมถึงกำกับดูแลการคัดเลือกให้เป็นไปตามขั้นตอน ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องการมีการปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ (ยกเว้นอัตรารับซื้อ) มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช. ยังมีมติเห็นชอบโครงการและแผนงานของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งโดยสอดคล้องกับแผนปฏิรูปพลังงาน ได้รับการยกเว้นเงื่อนไขในการได้รับการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามหลักการแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า สำหรับแผนงานและโครงการปี2565 ซึ่งการยกเว้นเงื่อนไขดังกล่าวสำหรับโครงการและแผนงาน ปี 2565 เพื่อให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง สามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานได้อย่างต่อเนื่อง และให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ