ครม.ได้ฤกษ์ไฟเขียวสร้างทางคู่ “บ้านไผ่-นครพนม”หลังรอคอยมากว่า50ปี

ครม.ได้ฤกษ์ไฟเขียวสร้างทางคู่ “บ้านไผ่-นครพนม”หลังรอคอยมากว่า50ปี เดินหน้าตอกเสาเข็มปี63 เปิดบริการปี’67 ดันเชื่อมระบบรางเพื่อนบ้าน คุยฟุ้ง!สร้างเสร็จรองรับผู้โดยสารได้3.8ล้านคน/ปี ขนสินค้าได้7แสนตัน/ปี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ  รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ครม.ได้มีมติให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ดำเนินการในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม วงเงินงบประมาณ 66,848.33ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ8ปี เริ่มตั้งแต่ปีนี้-ปี68 โดยปีนี้จะเริ่มเวนคืนที่ดินจำนวน 7,100 แปลงเพื่อมาก่อสร้าง ปี63จะเริ่มประกวดราคา หลังจากนั้นก่อสร้าง แล้วเสร็จเปิดให้บริการในปี67 หรือ ต้นปี 68ซึ่งจากผลการศึกษาระบุว่าเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จปี67จะรองรับปริมาณผู้โดยสารได้กว่า 3.8ล้านคน/ปี รองรับปริมาณสินค้าได้ 700,000ตัน/ปี และเมื่อเปิดให้บริการจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 13%นอกจากนั้นคาดการณ์ว่าในปี99 จะขนผู้โดยสารได้ 8.3 ล้านคน/ปี ขนสินค้าได้กว่า 1ล้านตัน/ปี

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

 “รถไฟทางคู่สายนี้ถือเป็นรถไฟเป็นสายใหม่ ที่เพิ่งจะอนุมัติให้ก่อสร้าง เป็นโครงการที่จะดำเนินการมานานกว่า    50 ปีมาแล้ว และได้เริ่มศึกษาเมื่อปี 32  โดยโครงการนี้รัฐบาลจะรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ ค่าเวนคืนต่างๆ ขณะที่กระทรวงการคลังจะเป็นผู้จัดหาแหล่งเงินกู้ให้รฟท. เป็นผู้กู้เงิน ทั้งนี้จะมีพื้นที่เวนคืนประมาณ 7,000 แปลง โดยมีวงเงินเวนคืนประมาณ 10,000 ล้านบาท” 

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมของไทย พ.ศ.2558-2565 ในแผนงานพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง หรือการพัฒนาเส้นทางสายใหม่ ระยะที่ 3 และอยู่ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2560 (แอ๊กชั่นแพลน) รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการพัฒนาโครงข่ายรถไฟตามแนวระเบียบเศรษฐกิจด้านตะวันออก-ตะวันตก ตอนบน ช่วงแม่สอด-พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-ขอนแก่น-ร้อยเอ็ด-มุกดหาหาร ช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่ ส่งเสริมการจ้างงานและการลงทุนภาคการเกษตรอุตสาหกรรม  

นอกจากนี้ยังเป็นการเชื่อมต่อโครงการรถไฟ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางจิระ โครงการศูนย์การขนส่งสินค้าชายแดนจังหวัดนครพนม ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และจะเชื่อมต่อโครงการรถไฟ ช่วงแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์-บ้านไผ่ ที่อยู่ระหว่างการศึกษาและออกแบบโครงการ ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบรางไปถึงท่าเรือย่างกุ้งและท่าเรือละแหม่งในประเทศเมียนมา ส่วนอีกด้านหนึ่งก็เชื่อมต่อไปถึงท่าเรือดานังและท่าเรือไฮฟองในประเทศเวียดนาม และยังสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศจีนได้ด้วย.