ครม.ผ่านฉลุยร่วมลงทุนไฮสปีดเทรน สายแรกไทยของเมืองไทยเชื่อมสามสนามบิน

ครม.ผ่านฉลุยร่วมลงทุนไฮสปีดเทรน สายแรกไทยของเมืองไทยเชื่อมสามสนามบิน

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติและเห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย รฟท.) ร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน กับ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร(กลุ่ม CPH) ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ (BEM) บริษัท China Rsilway Construction Corporation Limited บริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน)และ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นเอกชนที่ได้รับคัดเลือกตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.)ได้เห็นชอบไว้

โดย ครม. เห็นชอบให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการนี้ วงเงิน 149,650 ล้านบาท ซึ่ง รฟท. จะชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการแก่เอกชนที่ได้รับการคัดเลือกด้วยการแบ่งจ่ายเป็นรายปีปีละไม่เกิน 14,965 ล้านบาท เป็นเวลา 10 ปีหลังจากเริ่มการให้บริการโครงการ กลุ่ม CPH ได้ ยื่นเสนอ มูลค่าเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการ 149,650 ล้านบาท เมื่อคำนวณเป็นมูลค่าปัจจุบัน หรือ NPV  มีค่าเท่ากับ 117,226.87 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่ากรอบวงเงินที่ ครม.อนุมัติไว้ที่ 119,425.75 ล้านบาท หรือต่ำกว่า 2,198.88 ล้านบาท โดยให้เอกชนร่วมลงทุนเป็นเวลา 50 ปีและเอกชนเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสารและรับความเสี่ยงด้านจำนวนผู้โดยสารของโครงการ โดยมีมูลค่าโครงการ ณ ราคาปัจจุบัน 224,500 ล้านบาท และ อีก 50 ปีข้างหน้าโครงการจะกลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ คาดมูลค่าในขณะนั้นกว่า 300,000 ล้านบาท โดย รฟท.จะมีการลงนามในสัญญากับ นิติบุคคลเฉพาะกิจที่ภาคเอกชนต้องจัดตั้งขึ้นมา กลางเดือนมิ.ย.นี้ และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ต้นปี 2567

”ขณะเดียวกัน ครม. ได้เห็นชอบให้มีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อติดตาม กำกับและบริหารจัดการสัญญาร่วมลงทุนของโครงการฯ พร้อมทั้งกรอบอัตรากำลังและกรอบวงเงินค่าใช้จ่าย ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวต้องเริ่มทำงานทันทีที่สัญญาร่วมลงทุนโครงการมีผลคาดว่าประมาณเดือนก.ค. 2562 มีหน้าที่ความรับผิดชอบ 5 ฝ่าย คือ 1.ฝ่ายก่อสร้างและเดินรถ 2.ฝ่ายกำกับดูแลการส่งมอบโครงการ Airport rail Link 3.ฝ่ายกำกับดูแลการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟและบริการผู้โดยสารและพื้นที่เชิงพาณิชย์ 4.ฝ่ายกำกับดูแลสัญญา 5. ฝ่ายบริหารจัดการโครงการ โดยมีผู้อำนวยการโครงการซึ่งเป็นผู้แทนสำนักงานนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) ทำหน้าที่บริหารและกำกับการทำงานของทั้ง 5 ฝ่าย