ทางหลวงเร่งเดินหน้าแก้ปัญหาก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช หลังงบบาน!

  • ต้องปรับแบบ-ทำราคาค่างานสูงปรี๊ด 
  • ผลจากแก้ไขงานวิศวกรรมที่จำเป็น 
  • มั่นใจค่างานเพิ่มสูงขึ้นไม่ถึง 6,800 ล้านบาท

นายสราวุธ ทรงศิวิไล  อธิบดีกรมทางหลวง(ทล.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการออกแบบโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เส้นทางบางปะอิน-นครราชสีมา ที่ออกแบบไปแล้วแต่ไม่สามารถดำเนินการได้จริง และส่งผลกระทบต่อราคาค่างานก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นว่า เส้นทางดังกล่าวมีการแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 40 ตอน และมี 17 ตอนที่มีปัญหาในเรื่องการออกแบบไปแล้ว ต้องมาปรับแบบก่อสร้างใหม่ ซึ่งในการประชุมล่าสุด ทางหลวงได้มีการเสนอต่อที่ประชุมเพื่อหาข้อยุติในการแก้ไขรวม 10 ตอน แต่ขณะนี้ได้ข้อสรุปปัญหาและแนวทางแก้ไขเพียง 7 ตอน ประกอบด้วย ตอนที่ 14 ,ตอนที่ 17,ตอนที่ 34 , ตอนที่ 5 ,ตอนที่ 6 , ตอนที่ 18 ,และตอนที่19 อย่างไรก็ตามกรมทางหลวงจะต้องเร่งสรุปปัญหาในตอนก่อสร้างที่เหลือเพื่อหาข้อสรุปให้แล้วเสร็จในเดือน ก.พ.นี้ ก่อนที่กระทรวงคมนาคมจะเสนอ ครม. ประมาณเดือน มี.ค. เพื่อขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมในการดำเนินการในเส้นทางดังกล่าวต่อไป

นอกจากนั้นในที่ประชุมยังมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าการปรับแบบก่อสร้างจำนวน 7 ตอนก่อสร้างที่มีปัญหานั้น รูปแบบที่มีการแก้ไขแบบ มีความจำเป็น เหมาะสม เป็นไปตามหลักวิศวกรรม และทางกายภาพตามหน้างานจริงแม้ว่างบประมาณจะเพิ่มขึ้น เช่น กรณีการขยับแบบก่อสร้างสร้าง ตอม่อ ในคลองรพีพัฒน์ เมื่อมีการขยายคลอง ตำแหน่งของการวางตอม่อ ย่อมเปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกันระยะความยาวของสะพานก็จะต้องยาวขึ้น  หรือ กรณีที่การก่อสร้างตอนที่ 34 ที่มีการปรับแบบแล้วทำให้วงเงินงบประมาณเพิ่มขึ้นกว่า  291 ล้านบาท  ซึ่งในส่วนที่เพิ่มคือเป็นพื้นที่ผ่านเรือนจำคลองไผ่ ที่จะต้องสร้างกำแพงครอบ เส้นทาง เพิ่มอุปกรณ์ติดตั้งลดเสียงลง ซึ่งส่วนนี้คาดว่าอาจจะต้องมีการเปิดประมูลใหม่ เป็นต้น 

“การปรับออกแบบก่อสร้างทั้ง 7 ตอน จากตอนที่มีปัญหาทั้งหมด 17 ตอน ที่งบประมาณเพิ่มขึ้นประกอบด้วย  ตอนที่ 14(งบประมาณไม่เพิ่ม) ,ตอนที่ 17 งบประมาณเพิ่ม 22 ล้านบาท ,ตอนที่ 34 งบประมาณเพิ่ม 291 ล้านบาท , ตอนที่ 5 งบประมาณเพิ่ม 159 ล้านบาท,ตอนที่ 6 งบประมาณเพิ่ม 213 ล้านบาท  , ตอนที่ 18 งบประมาณเพิ่ม 284 ล้านบาท,และตอนที่19 งบประมาณเพิ่ม 656 ล้านบาท รวมงบประมาณที่เพิ่มขึ้นรวมกว่า 1,600 ล้านบาท จากเดิมก่อนหน้านี้มีการประเมินว่าจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมรวมทั้ง 17 ตอน รวมกว่า 6,818 ล้านบาท ซึ่งแนวโน้มงบประมาณลดลงจากที่คาดแน่นอน ซึ่งการปรับแบบ และมีค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นนั้นทางกระทรวงคมนาคมจะให้ ทางหลวงไปหารือกับสำนักงบประมาณในเรื่องของงบฯที่จะใช้ว่าทำได้หรือไม่ หรือจะเป็นงบฯจากส่วนไหนอย่างไรให้เรียบร้อย ก่อนที่จะมาเสนอคมนาคมก่อนเสนอ ครม.”  

นายสราวุธ ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าในการก่อสร้างภาพรวมของ มอเตอร์เวย์ เส้นทาง บางปะอิน-โคราชว่า จะแล้วเสร็จพร้อมเปิดใช้งานทดลองได้ปลายปี 65 และเปิดให้บริการได้ในปี 66 แน่นอน เนื่องจากก่อสร้างขณะนี้แล้วเสร็จไปกว่า 20 ตอน ส่วนความคืบหน้าการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance: O&M) ในเส้นทางนี้ที่กลุ่มกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ นำโดยบริษัทบีทีเอสกรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดี เวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท บมจ. ชิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประมูลนั้นคาดว่า ทล.จะออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to process หรือ NTP) และส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนและเซ็นสัญญาได้ในเดือน เม.ย. 64นี้

ส่วนแนวโน้มที่จะเปิดให้ประชาชนสามารถใช้สัญจรได้ก่อนในช่วงที่ก่อสร้างแล้วเสร็จนั้น ยืนยันว่าอาจจะมีข่าวดีหลังที่มีการแก้ไขปัญหางานก่อสร้างต่างๆแล้วเสร็จ ซึ่งช่วงที่พิจารณาแล้วสามารถเปิดใช้งานบางส่วนชั่วคราวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ คือ ช่วงลำตะคอง ตอนก่อสร้างที่ 24 -ตอนก่อสร้างที่ 37  ซึ่งการเปิดให้ใช้งานไม่ได้ทั้งเส้นทาง แต่เป็นการเปิดเดินรถทางเดียว เพื่อช่วยระบายรถ สาเหตุที่ไม่เปิดทั้งเส้นทาง เนื่องจากยังไม่มีการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ และบำรุงทาง ทำให้ไม่มีไฟฟ้าแสงสว่าง เป็นต้น 

สำหรับผลการสอบข้อเท็จจริง ปัจจัย 4 ข้อ ที่ทำให้ค่างานก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายนี้ ปรับเพิ่มขึ้น. ประกอบด้วย 1 .ข้อเท็จจริง ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อครั้งมีการสำรวจออกแบบในอดีตตั้งแต่อปี 2551  2.ลักษณะทางกายภาพในพื้นที่ ที่เปลี่ยนแปลงไป  3.การเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่เขตทางที่หลวงตัดผ่าน  4 .การดำเนินงาน เพื่อคำนึงถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

#TheJournalistclub #โควิด19 #JNC #ทางหลวง #มอเตอร์เวย์