“สมคิด”ปลุกเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จัดงาน “ครีเอทีฟ ไทยแลนด์ 2020”

  • ใช้ต่อยอดธุรกิจบริษัทชั้นนำ เอสเอ็มอี เศรษฐกิจฐานราก
  • ชงครม.เศรษฐกิจบูรณาการการทำงานและงบประมาณ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยระหว่างการประชุมร่วมกับนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อมอบนโยบายให้คณะกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา และอธิการบดีมหาวิทยาลัย ที่สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์(องค์การมหาชน) หรือ CEA ว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือครีเอทีพ อีโคโนมี เป็นเรื่องสำคัญมาก แต่เมืองไทยพอเปลี่ยนขั้วการเมืองก็ต้องมาตั้งไข่กันใหม่ ในตอนนี้ประเทศไทยจะก้าวไปสู่ยุค 4.0 จึงต้องการให้นำเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาพัฒนาประเทศให้ทันสมัย ต้องมีสินค้าใหม่ที่แข่งขันได้ พร้อมกันนั้น ขอให้สำนักงานบริหารองค์ความรู้(OKMDหรือ สบร.)สร้างองค์ความรู้เพื่อยกระดับเกษตรกรและท่องเที่ยวของไทย

“ทั้ง CEA และ OKMD จะเป็นหน่วยงานที่พึ่งพิงได้ ซึ่งต้องสร้างตัวเองให้คนภายนอกเห็นคุณค่า ไม่เช่นกัน ตั้งหน่วยงานมาตั้งหลายปี แต่ละหน่วยงานก็ได้รับงบประมาณเพียงปีละ 200 ล้านบาท ซึ่งไม่เข้าท่า ฉะนั้น หน่วยงานต้องทำให้คนอื่นเห็นคุณค่าของคุณได้ว่าคุณทำอะไรอยู่ ดีอย่างไร และให้สำนักงบประมาณได้เห็นความสำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการสร้างองค์ความรู้ เช่น ทำแอปพลิเคชั่นดีๆ และวางแผนนำเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์เข้าไปพัฒนาให้เกิดการเกษตร 4.0 การค้าออนไลน์ การทำเกษตรแบบหยดน้ำ การใช้โดรนเพื่อการเกษตร การท่องเที่ยวชุมชนแบบสร้างสรรค์ และสร้างสมาร์ท ฟาร์เมอร์ให้เกิดขึ้นให้ได้ และขอให้จัดการแสดงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยขึ้นเร็วที่สุดภายใต้ชื่อ ครีเอทีพ ไทยแลนด์ โดยนำสินค้าและบริการที่สร้างสรรค์ของไทยมาจัดแสดงให้โลกได้รู้จัก”

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ(ครม.เศรษฐกิจ) เปิดเผยว่า ได้หารือกับนายสมคิดแล้วว่า ให้นำเรื่องการบูรณาการการทำงานและงบประมาณของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เข้าสู่ที่ประชุมครม.เศรษฐกิจในเดือนหน้า และกำหนดให้มีการงานจัดงาน ครีเอทีพ ไทยแลนด์ 2020”ให้เป็นงานใหญ่ ช่วงเดือนม.ค. ปี 2563 เพื่อจัดแสดงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย ตลอดจนความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น แอนนิเมชั่น อี สปอร์ค โฆษณา การออกแบบ การท่องเที่ยว การส่งออก ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

ด้านนายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า ในปี 2560 มูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 15 สาขาของไทย คิดเป็น 9.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) หรือ 1.4 ล้านล้านบาท และมีอัตราขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2553-2560 เติบโตเฉลี่ย 5.61% สูงกว่าจีดีพีที่เติบโตเฉลี่ย 5.24% อย่างไรก็ตาม รองนายกฯสมคิดมองว่ามีช่องว่างที่ทำให้เติบโตได้มากกว่านี้อีก สำหรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 3 สาขาที่มีมูลค่าสุงสุดคือ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 285,179 ล้านบาท อาหารไทย 197,741 ล้านบาท และการออกแบบ 187,934 ล้านบาท ขณะที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์จะเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยสร้างศักกยภาพให้กับเกษตรกรไทย 30 ล้านคน จากการทำการผลิตแบบดั้งเดิมมาเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจในอนาคตได้ ขณะที่ในปีนี้มีแผนนำเศรษฐกิจสร้างสรรค์เข้าไปสนับสนุนบริษัทชั้นนำ ธุรกิจเอสเอ็มอีและเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งถ้ามีกองทุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เริ่มต้นที่ 1,000 ล้านบาทจะทำได้ง่ายและเร็วขึ้น