คนกรุงรอหน่อย!ขนส่งทางรางเร่งพัฒนาแผนแม่บทรถไฟฟ้า M-MAP 2 ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่หวังให้ประชาชนได้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขนส่งทางรางเดินหน้าเร่งพัฒนาแผนแม่บทรถไฟฟ้าฉบับใหม่ M-MAP 2 หวังให้บริการประชาชนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ครอบคลุม กทม. และปริมณฑลได้ทุกพื้นที่

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา เพื่อประชาสัมพันธ์และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 “โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง และการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2” หรือ M-MAP 2 ว่า ปัจจุบันโครงการได้ออกแบบแบบจำลอง คาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง (Railway Demand Forecast) แล้วเสร็จ และได้นำมาดำเนินการวางแผน M-MAP 2 โดยการวิเคราะห์และกำหนดแนวเส้นทางที่มีความเป็นไปได้ให้ตอบโจทย์นโยบายการพัฒนารถไฟฟ้าใน 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.บรรเทาความหนาแน่นระบบราง (Capacity) 2. เพิ่มการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่ปิดล้อมขนาดใหญ่และรองรับการขยายตัวของเมืองในอนาคต (Coverage) 3. เพื่อพัฒนาโครงข่ายรวมและการกระจายการเดินทางเพิ่มเติม (Connectivity) 4. ปรับปรุงรูปแบบค่าโดยสารให้เหมาะสมและเป็นธรรมมากขึ้น (Affordable and Equitable) 5. เพื่อความสอดคล้องและเชื่อมต่อกับการขนส่งรูปแบบอื่น (Intermodal) 

อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาโครงการได้มีการจัด Focus Group รับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่จังหวัดปริมณฑล ประกอบไปด้วย จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นนทบุรี และนครปฐม ซึ่งทำให้ ขร.ได้รับทราบข้อมูลการดำเนินโครงการต่างๆ ภายในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ โดย ขร.จะนำข้อมูลเหล่านี้ ไปดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมร่วมกับแผน M-MAP 2 Blueprint ที่ทาง JICA เคยศึกษาไว้เพื่อตอบโจทย์นโยบายการพัฒนาให้ได้แนวเส้นทางระบบรางที่เป็นไปได้ทั้งหมด (Project Long List) และนำมาดำเนินการคัดกรอง ทั้งด้านกายภาพและจำนวนผู้โดยสาร เพื่อให้ได้แนวเส้นทางระบบรางที่เลือก (Project Short List) แล้วนำมาจัดลำดับความสำคัญ และดำเนินการศึกษา ในด้านวิศวกรรม การลงทุน และสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นต่อไป

“การสัมมนาดังกล่าวจะทำให้ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อให้แผนแม่บทรถไฟฟ้าฉบับใหม่ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งกรมการขนส่งทางรางเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบ รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน และแก้ปัญหาจราจร ได้อย่างยั่งยืน”