ข้าราชการยังเบิกเงินบุตรได้

  • กรมบัญชีกลางยันยังใช้สิทธิตามเดิม
  • ข้าราชการเบิกเงินค่าเล่าเรียนบุตรได้
  • อนุบาลสูงสุด 13,600 บาท 
  • ปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเทอม

นางญาณี แสงศรีจันทร์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า หลังจากกรมบัญชีกลางได้ปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาบุตร พ.ศ. 2562 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย. 2562 เป็นต้นไป ทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เกี่ยวกับพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว และมีการส่งต่อข้อความทางแชทไลน์ ซึ่งระบุว่า  “บังคับใช้วันนี้แล้ว 13/6/62 เป็นต้นไป เบิกได้ตามที่เสียค่าเล่าเรียนจริง ถ้าค่าเล่าเรียนลูกเทอมละ 3 หมื่นก็เบิกได้ 3 หมื่นครับ เบิกได้จนลูกจบ ป.ตรี ข้าราชการที่เกษียณอายุแล้วก็ยังเบิกค่าเล่าเรียนลูกได้เต็มจำนวน”

ทั้งนี้กรมบัญชีกลางขอชี้แจงว่า ข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง พระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาบุตร พ.ศ. 2562 มีการแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติบางข้อเพื่อให้มีความชัดเจน เหมาะสม และสอดคล้องกับการจัดระบบการศึกษาในปัจจุบันเท่านั้น และไม่มีการปรับอัตราการเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาบุตร และยังคงใช้อัตราการเดิมที่กรมบัญชีกลางกำหนด

สำหรับประเภทและอัตราในการเบิกค่าบำรุงการศึกษา แบ่งเป็น ประเภทสามัญศึกษา ชั้นอนุบาล เข้าศึกษาในสถานศึกษาของทางราชการ สามารถเบิกค่าบำรุงการศึกษาต่อปีการศึกษา 5,800 บาท ซึ่งในกรณีที่เข้าศึกษาในสถานศึกษาเอกชนที่รับเงินอุดหนุนจากรัฐ เบิกได้ 4,800 บาท ส่วนสถานศึกษาเอกชนที่ไม่รับเงินอุดหนุน เบิกได้ 13,600 บาท ระดับประถมศึกษา เข้าศึกษาในสถานศึกษาของทางราชการ เบิกค่าบำรุงการศึกษาต่อปีการศึกษา  4,000 บาท กรณีเข้าศึกษาในสถานศึกษาเอกชนที่รับเงินอุดหนุนจากรัฐเบิกได้ 4,200บาท ส่วนสถานศึกษาเอกชนที่ไม่รับเงินอุดหนุนเบิกได้ 13,200 บาท

ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เข้าศึกษาในสถานศึกษาของทางราชการ เบิกค่าบำรุงการศึกษาต่อปีการศึกษา  4,800 บาท กรณีที่เข้าศึกษาในสถานศึกษาเอกชนที่รับเงินอุดหนุนจากรัฐ เบิกได้ 3,300 บาท ส่วนสถานศึกษาเอกชนที่ไม่รับเงินอุดหนุน เบิกได้ 15,800บาท ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เข้าศึกษาในสถานศึกษาของทางราชการ เบิกค่าบำรุงการศึกษาต่อปีการศึกษา  4,800 บาท กรณีที่เข้าศึกษาในสถานศึกษาเอกชนที่รับเงินอุดหนุนจากรัฐ เบิกได้ 3,200 บาท ส่วนสถานศึกษาเอกชนที่ไม่รับเงินอุดหนุน เบิกได้ 16,200 บาท

ส่วนระดับอนุปริญญา เข้าศึกษาในสถานศึกษาของทางราชการ สามารถเบิกค่าบำรุงการศึกษาต่อปีการศึกษา 13,700 บาท และระดับปริญญาตรี  เข้าศึกษาในสถานศึกษาของทางราชการ สามารถเบิกค่าบำรุงการศึกษาต่อปีการศึกษา 25,000 บาท

สำหรับสถานศึกษาของเอกชน ในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือเทียบเท่า และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) หรือเทียบเท่า ให้เบิกได้ครึ่งหนึ่งของจำนวนที่จ่ายจริงของค่าเล่าเรียนปีการศึกษาละไม่เกิน 25,000 – 30,000 บาท ตามประเภทวิชาหรือสายวิชา และหลักสูตรปริญญาตรี ให้เบิกจ่ายครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ได้จ่ายไปจริงของค่าเล่าเรียนปีการศึกษาละไม่เกิน 25,000 บาท ค่าเล่าเรียนที่ให้เบิกจ่ายได้จะต้องเป็นค่าธรรมเนียมการเรียนหรือค่าธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งสถานศึกษาเอกชนเรียกเก็บตามอัตราที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการหรือมหาวิทยาลัย